พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ
พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ
รองศาสตราจารย์ ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง
เทคนิค : สีอะคริลิคบนผ้าใบ
ขนาด : 150 x 200 เซนติเมตร
ภาพผลงาน “พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ” เป็นภาพเหมือนจริงของพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระที่นั่งสองชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีน ที่ตั้งอยู่ภายในพระราชวังบางปะอิน สร้างขึ้นในรัชกาลที่5 ที่อาจารย์ไพรวัลย์วาดด้วยความประทับใจและต้องการสื่อให้ผู้ชมภาพไม่เพียงแค่รู้สึกว่าภาพนี้เป็นภาพที่เหมือนของจริง แต่มี 3เรื่องสำคัญแฝงอยู่ คือ เรื่องของความรัก ความดีและความสุขที่อยู่ในสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญแห่งนี้
ภาพวาด พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่สร้างจะต้องมีความรักในวัฒนธรรม ในรูปลักษณ์ ในความดีงามของสถาปัตยกรรมลักษณะนี้ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นเดียวกับตัวอาจารย์ไพรวัลย์ที่รักและชื่นชอบในงานสถาปัตย์จึงถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมาผ่านภาพวาดเหมือนจริง
นอกจากนี้ภาพนี้ยังต้องการสื่อให้เห็นความลงตัวของสุนทรียภาพของสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งแห่งนี้ ที่มีสีสัน สวยสดงดงาม ลวดลายต่างๆ เมื่อพิจารณาอย่างดี จะทำให้เกิดความอิ่มเอมใจ จิตใจผ่องแผ่ว มีความสุข
ความหมายทั้ง 3 เรื่อง ความรัก ความดี ความสุข ที่แฝงอยู่ในพระที่นั่งฯแห่งนี้ อาจารยไพรวัลย์ต้องการให้ผู้ชมภาพ เกิดความประทับใจ แรงบันดาลใจ อยากไปสัมผัส ซึมซับเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
อาจารย์ไพรวัลย์เล่าถึงแรงบันดาลใจหลักของการสร้างผลงาน พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ประการแรกเกิดจากเรื่องของความรัก
ในชีวิตของผม สิ่งนี้เป็นแรงผลักดัน เป็นแรงขับเคลื่อน เหมือนเราขาดในเรื่องของความรัก เราก็เดินไขว่ขว้า พอเราเดินไปหาก็เห็นสรรพสิ่งในโลกเรา ที่เกิดขึ้นจากความรัก รักในวัฒนธรรม รักสถาปัตย์ รักแผ่นดิน รักบ้านเมือง พอเกิดความรักก็เข้าถึง ศึกษา มีแรงปรารถนาที่จะสร้างสิ่งนั้นออกมา โดยผ่านรูปเสมือนจริง
อาจารย์ไพรวัลย์กล่าวขยายความและกล่าวอีกว่า
ข้อที่ 2 ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานครั้งนี้ก็คือความดี ความดีเป็นนามธรรม มนุษย์ถูกมองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ รู้จักแยกแยะความดี ชั่วได้ ฉะนั้นความดีมันเป็นคุณธรรมยกให้คนดีหรือไม่ดี ก็เหมือนตัวสถาปัตย์ ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าของความดี เค้าคงจะไม่สร้างสิ่งเหล่านี้มาหรอก และวิธีการสร้างเมื่อดู จะเห็นลักษณะการสร้างที่มีเรื่องของดินน้ำลมไฟ หรือสภาวะแวดล้อมที่ตั้งอยู่ริมน้ำ และเงาที่สะท้อนมันสะท้อนอะไรหลายๆอย่าง
ข้อที่ 3 ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานนี้เป็นเรื่องของความสุข มนุษย์ปรารถนาที่สุดในเรื่องของความสุข ผมก็ปรารถนาในเรื่องของความสุข แม้จะมีแค่นิดเดียว ผมสัมผัสได้ว่าแม้จะนิดเดียว ตัวสถาปัตย์ของพระที่นั่งนี้ก็เหมือนกัน ผมไม่รู้ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงดำริสร้างขึ้นมาหรือไม่ อย่างไร แต่อาจจะเกิดจากด้วยวัฒนธรรมที่มันเคล้ากันระหว่างเอเชียที่มาจากอินเดียบ้างหรือจีนบ้างก็เอาตัวนี้มาประยุกต์ มาสร้างเป็นตัวสถาปัตย์ แล้วลงตัว งดงามงดงาม ถ้าใครเคยไปเที่ยวชมพระที่นั่งนี้ และพิจารณาอย่างดี เราจะได้รับความสุขจากสิ่งที่ปรากฏตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลายมังกรที่อยู่ด้านบน เป็นวัฒนธรรมของจีนที่ถือว่าผู้สูงสุดคือมังกรหรือที่เรียกว่าเล้งในภาษาจีน เป็นจักรพรรด์หรือกษัตริย์ เพราะฉะนั้นเค้าก็จะเอาไว้บนหลังคาและสีที่เป็นมงคลอย่างสีแดง สีสดใส ให้นึกถึงเวลาตรุษจีน สารทจีน ก็จะมีสีเหล่านี้ให้เห็น รวมทั้งลวดลายที่สื่อไปถึงวัฒนธรรมเรื่องของความกตัญญู อันเป็นรากวัฒนธรรมของจีน อย่างขงจื้อจะให้ความสำคัญในเรื่องความกตัญญูเป็นอันดับแรก ทดแทนบุณคุณหรือตอบแทนบรรพบุรุษ ผู้มีพระคุณ ผู้ให้กำเนิดเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน แผ่นน้ำ สิ่งที่ปรากฏมันเป็นความงดงาม
สำหรับงานชิ้นนี้อาจารย์บอกว่าทำอย่างสุดฝีมือ ใช้เวลประมาณครึ่งปี ในช่วงปี2562 หลังจากได้รับโจทย์มาว่าต้องการงาน 1ชิ้น บอกมา 1ปี แต่อาจารย์ ก็เขียนเตรียมรอไว้ รับโจทย์มาว่าอยากให้เป็นแนวของดอกไม้ เป็นเรื่องของความสุข ความเบิกบาน จิตใจผ่องแผ้ว
งานชิ้นนี้ผมก็ใช้สถานที่ที่บ้าน ใช้เวลา 6 เดือน ทำงานไปวันละฝ่ามือ ใช้ความอุสาหะ ความเพียร ต้องมีสติ มีสมาธิ ทำงานวันละคืบ รีบไม่ได้ เป็นงานแบบปราณีต เป็นงานช่างฝีมือ ภาพนี้ก็มาจากภาพถ่ายที่ผมถ่ายตอนไปเที่ยวชมพระที่นั่ง ไปนั่งเฝ้าดู 2-3 เที่ยว ผมก็ใช้กล้องถ่ายบันทึกไว้ก่อนที่จะมาสร้างเป็นรูปเหมือนจริง ต้องใช้กล้องที่เก็บความละเอียด ความครบถ้วน แต่ผมนำภาพนี้มาวาดด้วยเทคนิคการใช้สีอะคริลิค เป็นแนวภาพเหมือนจริง รูปที่ปรากฏจะเหมือนจริง เขียนคนก็เป็นคน เขียนต้นไม้ต้องเป็นต้นไม้ ผมเติบโตมากับภาพเหมือนตั้งแต่เด็กทำมาตลอด ทำจนเรียกว่าเป็นตัวตนของตัวเราเอง จะบอกว่าBORN TO BEเกิดมาเพื่อเขียนภาพเหมือนก็ได้
อาจารย์ไพรวัลย์เล่าอีกว่า ภาพนี้เป็นช่วงเวลายามเย็นที่ได้บรรยากาศ ได้เห็นความงามของสถาปัตย์ เห็นความรักของคนที่สร้าง สะท้อนให้เห็นความเป็นคนโรแมนติกของร.5 ซึ่งไม่พียงพระที่นั่งแห่งนี้ ยังมีพระที่นั่งอื่นอีก อย่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระองค์ท่านเสด็จประพาสมากทั้งในประเทศไทย ในต่างประเทศ พระองค์ก็มีข้อมูล มีความซึมซับแล้วนำสิ่งต่างๆมาประยุกต์ ผสมผสานไทย เอเชีย ยุโรป ออกมาเป็นเอกลักษณ์ของพระที่นั่งในสมัยของพระองค์ กลายเป็นหนึ่งเดียวในโลก
บรรยากาศที่สะท้อนอยู่ในภาพนี้น่าจะเป็นในช่วงมกราคม ปลายหนาวเข้าร้อนเพราะเฟื่องฟ้าจะออกดอกในช่วงแล้งๆ เฟื่องฟ้าที่เห็นเป็นสีชมพู และพระที่นั่งแห่งนี้สร้างตามหลักของฮวงจุ้ยที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่ว่า ถ้าทำให้ดินน้ำลมไฟที่ลงตัว ทุกสรรพสิ่งจะเกิดชีวิตขึ้นมา แม้แต่ในร่างกายเรา ในจิตวิญญาณของเราต้องประกอบด้วยธาตุเหล่านี้ให้เหมาะสมก็จะทำให้เรามีชีวิตที่ดี
หมายเหตุ:พระที่นั่งเวหาศจำรูญ เป็นของถวายของข้าราชการกรมท่าซ้าย คือ พ่อค้าใหญ่ชาวจีน โดยมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เป็นนายงาน หลวงสาทรราชายุตก์ (ยม พิศลยบุตร) และหลวงโภคานุกุล (จื๋ว) เป็นผู้ควบคุมในการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถม กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นผู้ควบคุมดูแลใช้เวลาในการสร้างประมาณ 10 ปี และเป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5
เมื่อพระที่นั่งสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมขึ้นพระที่นั่งตามแบบจีน เมื่อวันที่ 27 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2432
ห้องภายในพระที่นั่ง
ชั้นล่างของพระที่นั่งเวหาศจำรูญนั้น ใช้เป็นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่ง และใช้เป็นท้องพระโรง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ท้องพระโรงล่าง และท้องพระโรงบน โดยบริเวณทางขึ้นท้องพระโรงบนนั้นมีแผ่นหินอ่อนเป็นตราสัญลักษณ์ลัทธิเต๋าของจีน รูปหยินหยางประดับไว้ มีพระราชอาสน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกแผ่นป้ายคำโคลงสรรเสริญข้าราชการที่ทำคุณความดี 9 บท 17 แผ่นป้าย มาประดับไว้ด้วย ส่วนท้องพระโรงบนนั้น เป็นห้องประชุมเสนาบดี และใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 โดยมีการตั้งป้าย 8 เหลี่ยมซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนว่า "เทียน เหมง เต้ย" และ "ว่าน ว่าน ซุย" ซึ่งแปลว่า ทรงพระเจริญหมื่น ๆ ปี และที่เพดานท้องพระโรงมีอักษรไทยที่เขียนเลียนแบบอักษรจีนเป็นคำว่า "กิม หลวน เต้ย" ซึ่งแปลว่า โอรสจากสวรรค์
ห้องชั้นบนของพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ประกอบด้วย 4 ห้องใหญ่ ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องทรงพระอักษร และห้องพระป้าย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ห้องทรงพระอักษร
ห้องทรงพระอักษรตั้งอยู่ในทางทิศใต้ของพระที่นั่ง ภายในห้องมีโต๊ะทรงพระอักษรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ ปัจจุบัน ใช้เป็นที่เก็บหนังสือภาษาจีนในรัชสมัยรัชกาลที่ 5
ห้องพระป้าย
ห้องพระป้ายติดกับห้องทรงพระอักษรเป็นที่ประดิษฐานพระวิมาน 3 องค์ติดต่อกัน เรียงจากทิศตะวันตก ไปตะวันออก ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ ลงรักปิดสีทองอร่าม
- ช่องตะวันตกเป็นสถานที่ประดิษฐานพระป้ายจารึก (อักษรจีน) พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433
- ช่องกลางเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป ในการประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย
- ช่องตะวันออกเป็นสถานที่ประดิษฐานพระป้ายจารึก(อักษรจีน) พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470
นอกจากนี้ เสาด้านหน้าพระวิมานได้แขวนป้ายสุภาษิตจีนได้ โดยด้ายซ้ายแปลว่า "ในหมู่ชนจะหาความสามัคคีธรรมเสมอพี่น้องได้ยาก" และด้านขวา แปลได้ว่า "ในใต้หล้าจะหาความผิดในพ่อแม่ไม่มี"
นอกจากนี้ ยังมีห้องอีก 2 ห้อง ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่ง ภายในมีพระแท่นบรรทม 2 องค์ สำหรับทรงใช้ในฤดูร้อนและฤดูหนาว เพดานเหนือพระแท่นมีการแกะสลักลายมังกรดั้นเมฆ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่คอยปกป้องคุ้มครองพระมเหสี
ประวัติศิลปิน
อาจารย์ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง
เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2500
จบการศึกษา ศิลปบัณฑิต สาขาประยุกต์ศิลปศึกษา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ไพรวัลย์ เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงในการเขียนภาพเหมือนจริง ซูเปอร์เรียลลิสม์ โดยผลงานส่วนใหญ่ใช้เทคนิคสีอะคริลิค ถ่ายทอดผลงานที่เหมือนจริงอย่างน่าอัศจรรย์
อาจารย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพุทธปรัชญา สร้างผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพุทธปรัชญาได้แก่ผลงานที่ชื่อว่า ภาพ “พื้นผิวและการเวลา” อยู่ ในช่วงยุคแรกของศิลปินที่กำลังซาบซึ้งกับหลักคำสอนของศาสนา ที่นำเอาสิ่งแวดล้อม โบราณสถาน มาเป็นสื่อเพื่อ แสดงให้เห็นถึงพุทธปรัชญา โดยการใช้สีในการครอบคลุมบรรยากาศเพื่อทำให้เกิดอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ตรึงใจ และสงบ นิ่ง
ผลงานของอาจารย์ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องใกล้ตัว วิถีชีวิตของชาวบ้าน หลักคำสอนของในหลวง เรื่องความพอเพียง ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องใกล้ตัว วิถีชีวิตของชาวบ้าน หลักคำสอนของในหลวง เรื่องความ เป็นอยู่ที่พอเพียง ของชาวบ้านที่ดำเนินวิถีชีวิตอย่างพอเพียงที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ตามชนบท และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ตัวที่นำพ่อ แม่ หลาน ลูกศิษย์มาร่วมเป็นแบบในผลงานบางชิ้นงานด้วย เหมือนกัน
ต่อมาผลงานอาจารย์จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากอดีตตามร่องรอยของสถาปัตยกรรมของยุคสมัยที่ ผ่านมา ในยุคนี้ อาจารย์ได้เขียนผลงานเล่าเรื่องราวของ สถานที่ในอดีตต่างๆ ที่ผ่านกาลเวลามาจนถึงบัดนี้ ผ่านโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมโบราณ ในยุคสมัยของ ร.5 โดย ยังใช้สีในการครอบคลุม บรรยากาศเพื่อให้ความรู้สึกที่โหยหา ระลึกถึงภาพบรรยากาศเก่าๆ ในอดีตที่ผ่านมาของ สถานที่นั้นๆ ผลงานที่ว่ามานั้น ชื่อว่า ภาพ “วิฑูรทัศนา” เป็นการแสดงออกเพื่อสื่อความหมายทางศิลปะต่อสังคม