ชีวิต
ชีวิต
อาจารย์ธรรมนูญ เรืองสวัสดิ์
เทคนิค: สีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด: 100 x 150 เซนติเมตร
ภาพผลงาน”ชีวิต” อาจารย์ธรรมนูญบอก จุดมุ่งหมายต้องการสื่อให้ผู้ชมภาพเห็นสัจธรรมของชีวิตที่เกิดมาแล้ว ต้อง แก่ เจ็บ ตาย โดยใช้”บัว”เป็นสื่อสัญลักษณ์ จากภาพมองทางด้านซ้าย จะเห็นดอกบัวที่กำลังตูม มีสีที่สดใส บ่งบอกถึงชีวิตแรกเกิด เป็นโทนสีเย็นๆออกสีเขียว สีฟ้า พอช่วงกลางภาพ จะเห็นดอกบัวเริ่มบานหมายถึงช่วงกลางๆของชีวิต ดอกบัวจะเบ่งบานขึ้นมาแล้ว ส่วนด้านขวาสุด จะเห็นดอกบัวเริ่มเหี่ยวแห้ง เปรียบเหมือนชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยชรา ซึ่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถือเป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตทุกคนเป็นเช่นนี้ ภาพนี้ไม่ได้เป็นภาพจากของจริง แต่เป็นการเอาดอกบัวทั้งหมดมาจัดเป็นองค์ประกอบ มาสร้างสรรค์เพื่อจะให้เข้ากับเรื่องราวที่วางไว้ เป็นเชิงสัญลักษณ์ สื่อให้เห็นสัจธรรมของชีวิตที่ต้องเวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย
อีกความหมายหนึ่ง อาจารย์ธรรมนูญต้องการสื่อให้เห็นว่า “ดอกบัว” ก็เหมือนการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเอง เพราะ บัว เกิดมาจากโคลนตมและกว่าจะขึ้นมาจากดิน โผล่เหนือน้ำ เอามาใช้บูชาในที่สูง บูชาพระ ก็เหมือนชีวิต บางคนมาจากครอบครัวที่ยากจน ขาดโอกาส แต่ถ้ารู้จักพัฒนาตัวเอง พยายามฝึกฝน ความสำเร็จก็ย่อมเกิดได้ เปรียบเหมือนบัวที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นมา แต่ถ้าชีวิตมัวแต่ไปหลงใหลในสิ่งที่ไม่ดี ไม่เบ่งบาน ไม่มีจุดมุ่งหมาย ก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ หรือบางคนมีชีวิตที่ผิดพลาด แต่ถ้าจิตคิดดีก็จะไม่หลงทาง ไม่ผิดพลาดอีก ก็เหมือนบัวที่เบ่งบานได้
ภาพนี้จึงมี 2 นัยยะ นัยยะหนึ่งนอกจากสะท้อนชีวิตของคนเราที่อยู่ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ยังสะท้อนถึงการดำเนินชีวิต ถ้าดำเนินชีวิตไม่ดีก็เหมือนกับบัวอยู่ใต้น้ำ อยู่กับโคลนตม จึงตั้งชื่อกลางๆว่า” ชีวิต “ผูกกับหลายๆเรื่อง ชีวิตคน ชีวิตสัตว์ ชีวิตในธรรมชาติที่มันเป็นวัฎจักรของมัน ให้ผู้คนได้คิด กลับมาทบทวนดูชีวิต ทำชีวิตให้มีคุณค่า
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
อาจารย์ธรรมนูญเล่าถึงเบื้องหลังการทำผลงานชิ้นนี้ว่าเป็นผลงานที่ทำไว้ประมาณปี 2562
ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ประมาณ 3 เดือน สร้างสเก็ตช์รวมๆแล้วค่อยมาใส่รายละเอียด มีการปรับแก้บ้าง เพราะบางทีสีไม่ได้ องค์ประกอบต้องเพิ่ม มีการแทรกเรื่องราวลงไปเพื่อให้งานมีความสมบูรณ์ แต่ สเก็ตช์แรกก็มีความใกล้เคียงกับภาพผลงานจริง มาเพิ่มเติมเรื่องสีสัน บัวที่นำมาใช้เลือกมาจากภาพที่ถ่ายรูปดอกบัว แล้วนำมาวาดเลียนแบบตามนี้ เป็นการCOPYจากภาพธรรมชาติจริง โดยงานชิ้นนี้จะเป็นเทคนิคสีน้ำมัน
เวลาที่ผมเขียนรูป รูปที่ผมเขียน ผมจะแฝงเรื่องความคิดเข้าไป บางทีก็เป็นเรื่องการอนุรักษ์ แฝงเรื่องปรัชญาชีวิต การดำเนินชีวิต ซ่อนถึงวิธีการสอน วิธีการคิดลงไปในรูป เพราะจะพูดโดยตรงคงลำบาก จะเล่าด้วยรูปบ้าง เป็นการเอาเรื่องราวความจริงมาสร้างสรรค์ใหม่ เพื่อให้เข้ากับองค์ประกอบที่เราต้องใช้ ถ้าเราไปถ่ายจริงๆ บัวที่จะเริ่มสีเขียวแล้วไปบัวตูมบัวบานไปจนร่วงโรยหาถ่ายไม่ได้ แต่ผมก็ไปถ่ายเป็นช็อตที่ตูม ที่บาน ที่เฉาแล้วเอามาผสมผสานเพื่อให้มองเห็นชีวิตที่เกิดแก่เจ็บตายได้ นี่คือเทคนิคที่ผมใช้ในผลงานชิ้นนี้
อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมและบอกอีกว่า
ภาพผลงานนี้เกี่ยวข้องกับบัว แม้ ผมเป็นคนตรัง ชีวิตจะเกี่ยวพันกับทะเล ทำไมไม่เอาเรื่องทะเล เพราะงานช่วงแรกๆจะเกี่ยวกับทะเลเยอะ ผมจึงรู้เรื่องเหล่านี้ แต่ในช่วงหลังภาพผลงานของผม จะเกี่ยวกับบัว เพราะผมมาอยู่แถวบางบัวทอง มีบัวเยอะมาก และมีช่วงหนึ่งจะมีงานไปแสดงที่สิงคโปร์ คนจัดงานให้ผมเขียนเกี่ยวกับบัว ได้มีโอกาสสัมผัส เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของบัว ก็เลยเกิดความต่อเนื่องเรื่องบัวมาตลอด มีงานชุดหนึ่ง ที่เกี่ยวกับใบบัวใหญ่ๆ มีเรื่องราวของชีวิตเหมือนกันที่ผมเอาใบบัวแทนสังคม แทนโลก ใบบัวที่ขาดวิ่น เหมือนสังคมมีการผุพังบางส่วน มีแสงมาลง มีหยดน้ำเล็กๆมีปลาอยู่ในหยดน้ำ งานก็เลยเกี่ยวพันกับบัว ทำมาเรื่อยๆ ก็มีความคิดที่เกี่ยวข้องกับบัว ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของบัว ผมจึงใช้บัวแทนเรื่องราวในสังคม แทนเรื่องราวของวัฏจักร เรื่องราวของชีวิต ส่วนปลาในภาพก็ถือเป็นชีวิตหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับบัว
เรื่องราวของชีวิตที่ผ่านสัญลักษณ์ของ”บัว”ในผลงาน “ชีวิต” ยังสะท้อนจากช่วงชีวิตของอาจารย์ ที่อาจารย์เล่าถึงเรื่องราวของชีวิตตนเองที่ไม่ได้จบมาทางด้านศิลปะโดยตรง เคยเป็นครู จบรัฐศาสตร์ เคยทำงานกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ตรวจคุณภาพข้าว และเคยมีช่วงชีวิตที่สุ่มเสี่ยงด้วยการถูกเพื่อนๆชักชวนไปเป็นโจรเที่ยวจี้ปล้นรถทัวร์ เอาทรัพย์สินของคนอื่น แต่ก็สามารถคิดได้ และตัดสินใจผ่านชีวิตที่หมิ่นเหม่ แต่ด้วยใจรักในการทำงานศิลปะ และมีความมุ่งมั่น อดทน จึงกลับมาสู่เส้นทางการสร้างงานศิลปะ
อาจารย์ธรรมนูญยังเล่าถึงประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่มาเกี่ยวข้องกับการมาเป็นวิทยากรสอนการทำงานศิลปะกับซีพี โดยซีพีแรมมีการสอนเรื่องศิลปะให้พนักงาน ซีพีแรมก็เชิญอาจารย์มาสอนศิลปะให้พนักงาน
ผมเคยมีประสบการณ์จากคนที่มาเรียนเป็นคนใจร้อน พอมาเรียนก็จะหงุดหงิด เพราะศิลปะมันจะเร็วมากไม่ได้ มันต้องรอ ต้องมีขั้นตอน จะมาเอาแต่ใจไม่ได้ แต่พอทำนานๆ มีอยู่คนที่บริษัทเป็นลูกน้องมาบอกว่าหัวหน้าที่มาเรียนศิลปะกับอาจารย์ ไม่น่าเชื่อเป็นคนใจเย็นลง ฟังคนอื่นมากขึ้น เหมือนกับเค้าได้ขัดเกลาจิตใจ นิ่งมากขึ้น เลิกเอาแต่ใจตัวเอง ศิลปะก็มีส่วนทำให้คนใจเย็นลง อยู่กับของสวยๆ งามๆ จิตใจก็จะอ่อนโยน ใจเย็นลงและมีวิธีคิด ก็สามารถไปต่อยอดอะไรหลายๆอย่าง คุณจะเป็นหมอก็ได้ หมอก็มีศิลปะในการดูแลคนไข้ได้ ศิลปะก็เปรียบเทียบเหมือนศาสนาในการขัดเกลาผู้คนให้คนเป็นคนดี ศิลปะก็เหมือนกันแต่มันคนละรูปแบบ ช่วยคนได้ อย่างเด็กๆจะชอบศิลปะ ชอบขีดเขียน ถ้าเราขัดเกลาตั้งแต่เล็กก็จะช่วยคนให้ใจเย็น คนจะรบราฆ่าฟันน้อยลง ก็เป็นไปได้ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็จะดีขึ้นด้วยเหมือนกัน เมื่อคนมีความสุขก็จะชื่นชมศิลปะเพื่อให้จิตใจได้สุขยิ่งขึ้น ศิลปะจะเฟื่องฟูในประเทศที่เจริญ และไม่มีสงคราม ความวุ่นวาย ศิลปะจึงเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นความเจริญในประเทศนั้นๆ
อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย
ประวัติศิลปิน
อาจารย์ธรรมนูญ เรืองสวัสดิ์
เกิดเมื่อปี 2501
เป็นคนจังหวัดตรัง จบการศึกษาคบ.( ศิลปศึกษา ) จากวิทยาลัยครูธนบุรี
ตั้งแต่ปี2533จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นมาเลเซีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีน พม่า ไต้หวัน อาจารย์เป็นจิตรกรที่มีความเชี่ยวชาญในการวาดสีน้ำอย่างยอดเยี่ยม มีแนวทางในการทำงานศิลปะในช่วงแรกเป็นงานเขียนสีน้ำที่หลากเทคนิค หลากวิธีการเขียน เนื่องจากเป็นสื่อเทคนิคที่ชื่นชอบและเป็นช่วงที่ฝึกฝน ค้นคว้า อย่างต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี หลังจากนั้นก็เริ่มใช้สื่อสีน้ำในการสร้างผลงานน้อยลง หันมามุ่งเน้นให้ความสนใจอย่างจริงจังกับสื่อเทคนิคอย่างสีอะคริลิคและสีน้ำมันในการสร้างสรรค์ ถ่ายทอดจินตนาการในปัจจุบัน
อาจารย์ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับซีพีในฐานะเป็นวิทยากรที่มาสอนการวาดภาพให้ชมรมศิลปะ ซีพีแรม มีพนักงานหลายคนได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ การวาดภาพและลงสี ซึ่งพนักงานที่ร่วมกิจกรรมได้ทั้งทักษะการวาดภาพและระบายสี และเสริมสร้างความสุขไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้อาจารย์ยังเคยจัดนิทรรศการ”ในความต่าง”นำผลงานมาแสดงที่หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์ เมื่อวันที่ 2-28 มิถุนายน 2552 และร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ”90ปี เครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร สานสัมพันธ์วัฒนธรรมไทย-จีน” โดย 26ศิลปินชั้นนำของประเทศไทยที่หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์ เมื่อวันที่ 1-30 กันยายน 2554