ป่าเขาใหญ่
ป่าเขาใหญ่
อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงษ์
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด : 200 x 350 เซนติเมตร
ภาพ”ป่าเขาใหญ่”นี้ มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาใหญ่ และความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในป่าเขาใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกโลก ที่แสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย การที่มีป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์นั่นแสดงว่าประเทศของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในแง่ของธรรมชาติที่เป็นทางกายภาพ รวมทั้งพลังความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนบนแผ่นดินไทย รวมทั้งการกระตุ้นให้ผู้ชมภาพเกิดความรัก หวนแหนและช่วยปกป้องดูแลรักษาป่าเขาใหญ่ที่ยิ่งใหญ่และอุดมสมบูรณ์
รูปนี้จะเน้นถึงความกว้างใหญ่ของพื้นที่ ของป่า ซึ่งจะประกอบด้วยทิวเขา ต้นไม้ โขดหินต่างๆ ที่ประกอบด้วยน้ำตก มองออกไปจะเป็นเหมือนทุ่งหญ้า ลำธาร น้ำไหลในลักษณะสลับกับทิวเขาที่ดูไกลเวิ้งว้างออกไป
จะเห็นพื้นล่างที่ออกเป็นสีชมพู ส้ม เป็นตัวแทนของเงา ของแสงที่ส่องลงมาบนพื้น ทางซ้ายถัดขึ้นไปเหมือนเป็นฉากหลังที่ประกอบด้วยสุ่มทุมพุ่มไม้ที่ดูเป็นแบกกราวด์ไกลลึกขึ้นไป เป็นป่าดิบ และมองขึ้นไปข้างบนทางขวามือเหมือนกับเป็นลำธารใหญ่ที่ทอดยาวออกไป และเบื้องบนจะเป็นส่วนของทิวเขาและท้องฟ้า ส่วนที่เป็นมุมขวาล่างเป็นตัวแทนของโขดหินหรือภูผา ขุนเขาที่เบี่ยงออกไป แล้วก็ออกเป็นสีส้มๆเหมือนกับเนื้อหิน เนื้อของภูเขา แล้วต่ำลงมาเหมือนกับเป็นสีอ่อนที่อาจแสดงให้เห็นถึงความเป็นสายน้ำ ซึ่งจะประกอบด้วยเส้นแสดงให้เห็นถึงลีลาของการไหลของสายน้ำ ขณะเดียวกันตรงที่เป็นภาพด้านหน้าข้างล่างจะเป็นกลุ่มหญ้าที่พลิ้วไหวไปตามกระแสลม เป็นการถอดความเป็นนามธรรมของตัวป่าเขาออกมา
ภาพยังแฝงถึงพลังของธรรมชาติ ที่ซ่อนเวลาไว้ เหมือนกับการเคลื่อนของเวลาตั้งแต่เช้าจนถึงมืดค่ำ ไม่ได้เจาะจงว่ารูปนี้เป็นตอนกลางวันหรือตอนไหน ตรงกลางภาพมีแสงเหมือนเป็นรุ่งอรุณ พอแผ่นฟ้าคล้ายสีม่วง สีชมพู แล้วก็เลื่อนไปทางขวามือ เหมือนค่อยๆมืด ให้เห็นวันเวลาอยู่ในรูปนี้ อย่างด้านหน้าตรงพื้นจะเห็นเป็นสีแดงทั้งที่เป็นสีชมพูเหมือนกับแสงแดดในตอนกลางวันที่แดดร้อนเปรี้ยง และเงาของกิ่งไม้กลายเป็นสีแดง สะท้อนถึงฤดูกาลรวมอยู่ในนี้ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ มีทั้งเวลาและฤดูกาลที่ดูแล้วมีความสุข มีสีสันจากแปรงที่สะบัดไปมาด้วยความรวดเร็ว และช้า จะเห็นภาพมีแตะสีเป็นจุดๆ เป็นอารมณ์ของธรรมชาติในป่าเขาใหญ่
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
อาจารย์สมศักดิ์เล่าถึงเบื้องหลังการสร้างงานชิ้นนี้ว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ยังคงสร้างสรรค์งาน
โดยให้ความสนใจกับสีและพื้นที่ว่าง ในเรื่องราวของธรรมชาติ ที่แสดงออกด้วยร่องรอยที่แปรง (BRUSHWORK) ให้อารมณ์ความรู้สึกของความเคลื่อนไหว ในแบบภาพเขียนทิวทัศน์ของจีนที่มองเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ของป่าเขา บวกกับประสบการณ์ความประทับใจจากการท่องป่าเขาใหญ่และเห็นว่า สถาบันผู้นำของซีพีก็อยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงตั้งใจวาดภาพและตั้งชื่อภาพว่า”ป่าเขาใหญ่”
เมื่อทางซีพีได้แสดงความมุ่งหมายที่อยากจะได้งานศิลปะของผมมาสักชิ้นหนึ่ง เพื่อติดตั้ง ณ สถาบันผู้นำ ผมก็ยังคงรักษาแนวทาง ความคิดแบบเดิม และสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสถาบันแห่งนี้ที่มีโอกาสไปเยี่ยม ผมได้ศึกษาว่าตรงนี้เป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นสถาบันที่ต้องการฝึกพนักงานของบริษัทให้เป็นผู้นำ เป็นผู้ที่จะสามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ หรือทำธุรกิจทางด้านเกษตรกรรม หรือธุรกิจของทางซีพี บังเอิญsense of place สถาบันแห่งนี้ไปตั้งอยู่ ณ อำเภอปากช่อง ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะไปสู่เขาใหญ่ ผมนึกถึงอันนี้เป็นข้อแรก ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทำไมเราไม่เอาธรรมชาติของป่าเขาใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่ตั้งของสถาบันแห่งนี้เลย เหมือนเป็นอาคารที่ใหญ่มากและเป็นที่บ่มเพาะผู้บริหารขององค์กรและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ก็จะสามารถเป็นตัวแทนให้กับองค์กรนี้ได้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมมองว่าต้องเขียนป่าเขาใหญ่ อันนี้คือแรงบันดาลใจประการแรก
เมื่อดูจากองค์ประกอบภาพ ผมเคยไปเที่ยวป่าเขาใหญ่ มีโอกาสเดินท่องป่าอยู่ 2-3 วัน เมื่อหลายปีมาแล้ว มีความประทับใจในความอุดมสมบูรณ์ของป่า ซึ่งประกอบด้วยป่า ที่มีความหลากหลายทั้งป่าดงดิบ ป่าแล้งชื้น มีทุ่งหญ้า มีลำธาร สายน้ำ ภูเขา เทือกเขา น้ำตก ผมตื่นเต้นมาก มีโอกาสเห็นน้ำตกเหวสุวัต อาจดูน่ากลัว แต่มีพลังของป่าตรงนั้น เลยอยู่ในความทรงจำของผม ผมเดินไปก็เห็นทุ่งหญ้าที่กว้างมาก มีครบทุกอย่าง มีทั้งความเป็นทุ่งหญ้า มีความเป็นสายน้ำ ความกว้างของทุ่ง รวมทั้งความเป็นดงดิบของป่า บางส่วนมีสีสัน มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล จนเกิดเป็นความประทับใจ และสิ่งเหล่านี้ก็มาเป็นประมวลและถ่ายทอดออกมาเป็นงานจากความทรงจำ และความรู้สึกที่มีต่อป่าเขา จำไม่ได้ไปช่วงไหนแต่ไปตอนที่มันเขียวชอุ่ม มีการผลัดใบหรือไม่ แต่ว่าสภาพที่เห็นมันเขียวชอุ่ม
ทั้งหมดนี้ ผมอยากจะประมวลความเป็นผืนป่า โดยการทำให้ภาพที่สามารถบรรจุรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ได้ โดยผ่านสี ผ่านทีแปรงและพื้นที่ว่างที่เราจะจัดสรรในภาพๆนี้ และการที่ได้รับมอบหมายการทำงานชิ้นนี้แล้วอาจจะไม่ได้เป็นงานอิสระ ซึ่งปกติงานผมจะไม่สเก็ตช์ภาพ จะลงมือทำเลย จะป้ายสีครั้งแรกที่จะเป็นตัวชักนำให้ว่าป้ายสีต่อไปควรจะใช้สีอะไร และควรจะวาดอะไรต่อไป เป็นขั้นๆ แต่ครั้งนี้เป็นงานที่ได้รับการมอบหมาย ดังนั้นการเริ่มต้นงานชิ้นนี้ ผมได้นำเสนอตัวแบบสเก็ตช์ให้กับทางซีพีถึง 5แบบ แต่ละสเก็ตช์จะมีองค์ประกอบของลีลา ของวิธีการแสดง ในเรื่องต่างๆที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วทางบริษัทได้คัดเลือกรูปนี้ขึ้นมา
เมื่อทางซีพีมีการแจ้งงานให้ศิลปินทราบประมาณเดือนเมษายนหรือมิถุนายน ปี 2563 โดยมีโอกาสร่วมกับศิลปินไปเยี่ยมสถาบันผู้นำราวปี2562 ท่านประธานอาวุโสให้การต้อนรับและทานข้าวกับศิลปิน หลังจากนั้นก็ทราบว่ามีการทาบทามศิลปินให้สร้างงาน และมีการส่งภาพสเก็ตช์ให้ดูก่อน หลังจากเซ็นสัญญาราวเดือนสิงหาคม ก็เริ่มลงมือ ตระเตรียมอุปกรณ์ เตรียมเครื่องเขียนและเนื่องจากว่าภาพนี้มีขนาดใหญ่มาก 2.5 X 3 เมตร เป็นชิ้นใหญ่ ยาว ก็สั่งเฟรม ขึงผ้าใบ เริ่มต้นทำงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและทำมาเรื่อย ที่สตูดิโอในบ้าน
เนื่องจากมีสเก็ตช์ภาพอยู่ในมือแล้วก็ดำเนินการตามแผนงาน แต่วิธีการเขียนรูปนี้อาจารย์บอกว่าใช้สีอะคริลิคในการลงครั้งแรกเป็นพื้นก่อน หลังจากนั้นก็มาดูเรื่องแก้ไขแบบ งานชิ้นนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ค่อยๆทำวันละเล็กวันละน้อย หลังจากที่ลงพื้นด้วยสีอะคริลิคแล้ว อยู่ในร่องในรอยแล้ว ก็เริ่มลงสีน้ำมันทับอีกครั้งด้วย บางส่วน งานชิ้นนี้จึงมีส่วนประกอบของสีอะคริลิคกับสีน้ำมันรวมกัน สีอะคริลิคเป็นรองพื้น สีน้ำมันเป็นผิวหน้า
อาจารย์บอกว่าภาพนี้ไม่ได้สื่อแค่เชิงศิลปะ แต่ต้องการบอกให้ผู้คนว่าความสมบูรณ์ ความยิ่งใหญ่ของป่าเขาใหญ่ที่ต้องรักษา อาจารย์เคยสนทนากับคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่นชอบงานศิลปะ มีอยู่ครั้งที่ไปเขียนภาพธรรมชาติที่จังหวัดตรัง คุณชวนบอกว่าเราต้องรีบเขียนภาพธรรมชาติ เพราะว่าธรรมชาติหลายๆอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้นมีการสร้างถนน สร้างหมู่บ้าน อะไรต่างๆขึ้นมา ซึ่งทำให้อาจารย์นึกถึงสมัยที่เรียน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาจารย์ผู้สอนให้ไปเขียนภาพทิวทัศน์ อาจารย์ไปเขียนที่คลองสาทร อาจารย์เป็นเด็กโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และคุ้นเคยกับคลองสาทรมาก ตอนนั้นคลองสาทรยังเป็นคลอง ยังไม่เป็นถนน จึงวาดภาพคลองสาทร ตอนเด็กๆแถวสาทรมีต้นไม้มาก หรือแม้แต่ถนนสีลมทั้งสายเต็มไปด้วยต้นไม้ ได้เห็นการถมคลองให้กลายเป็นถนน ตรงศาลาแดงที่เวลานี้กลายเป็นห้าง เป็นดุสิตธานี มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เช่นเดียวกับภาพป่าเขาใหญ่ที่เขียนนี้ ทำให้นึกถึงคำพูดคุณชวนที่บอกว่าต้องรีบเขียนภาพของธรรมชาติ เพราะมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ภาพนี้ก็จะทำให้ระลึกถึง ความเป็นป่าเขาใหญ่ จึงอยากให้ทุกคนอนุรักษ์ เห็นความสำคัญของป่าเขาใหญ่เอาไว้ เรื่องการอนุรักษ์คือเรื่องที่อาจารย์เน้น เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่อาจารย์ทำเรื่องการอนุรักษ์ป่าโดยตรง เขียนภาพที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์เหมือนกัน
อาจารย์ยังได้ฝากข้อคิดเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาของโลก ทุกวันนี้น่าวิตกมากและดูเหมือนว่าประเทศใหญ่ๆในโลกมุ่งไปทางด้านของการที่จะผลิตหรือสร้างมลภาวะต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม แม้จะเป็นประเด็นที่กำลังกล่าวถึงกันอยู่ เราอาจเริ่มต้นจากตัวเราก่อน เริ่มจากปลูกต้นไม้ในบ้าน แต่กับข้างนอกก็เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของแต่ละบุคคล ถ้าสามัญสำนึกอยู่ในแต่ละคน ก็จะขยายออกไป จากบ้านไปสู่สังคม ไปสู่ประเทศ ไปสู่นานาประเทศ ต้องสร้างตรงนี้ให้ได้ก่อนที่จะสายเกินไป ก็หวังว่าภาพจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้คนตระหนัก เห็นความสมบูรณ์ ความยิ่งใหญ่ของป่าที่เราควรจะรักษาไว้ หวังว่าคนจะเห็นและเข้าใจในวัตถุประสงค์ข้อนี้
ประวัติศิลปิน
อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงษ์
เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2492
เป็นคนกรุงเทพ จบการศึกษา ศม. (จิตรกรรม) คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ประกาศนียบัตร สถาบันวิจิตรศิลป เมืองอุรปิโน อิตาลี
นอกจากการเป็นอาจารย์สอนศิลปะและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการศิลปวัฒนธรรมของประเทศ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มุ่งเผยแพร่และสืบสานงานศิลปะของชาติจึงได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2560
อาจารย์ทำงานในจิตกรรมแนว ABSTRACT ART หรือแนวนามธรรม เริ่มจากตอนที่สนใจศิลปะแล้ว มีความชอบในภาพเขียนจีนและตัวอักษรจีน ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจอย่างฉับพลัน ด้วยการตวัดปลายพู่กันวาดภาพ ขณะที่เรียนศิลปะจึงได้ผสมผสานความคิดเข้ากับเทคนิคการภาพเขียนของตะวันตก ซึ่งมีงาน ABSTRACT อยู่แล้ว กลายเป็นแรงจูงใจให้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนว ABSTRACT ART มาโดยตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี
อาจารย์สร้างสรรค์งานจิตรกรรมแบบศิลปะนามธรรมโดยให้ความสนใจกับ สีและพื้นที่ว่าง จากความบันดาลใจในรูปทรง เรื่องราวของธรรมชาติ จนผลงานศิลปะมีลักษณะพิเศษ เกิดสุนทรีย์และความงามอย่างยอดเยี่ยม สอดคล้องกับศรัทธาความเชื่อในพุทธปรัชญา ลักษณะเฉพาะตัว ในการแสดงออกด้วยร่องรอยที่แปรง (BRUSHWORK) ให้อารมณ์ความรู้ของความเคลื่อนไหวของบรรยากาศ และพลังอารมณ์ภายใน สร้างมิติอันงดงามมีทั้งความเรียบง่ายและความซับซ้อนหมุนเวียนไปตามกระแสอารมณ์ที่ถูกกระทบจากสภาวะแวดล้อมภายนอก ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในทุกช่วงเวลา ได้นำออกแสดงต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับรางวัลจาก SAIRIN GALLERY เมืองโยโกฮามา และผลงานจิตรกรรมยังได้รับรางวัลจากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 21,22 และรางวัล MERRIT AWARD ของ BAGHDAD INTERNATIONAL FESTIVAL OF ART 1986