พระโพธิสัตว์ พุทธเกษตร - แดนมิตรภาพ
พระโพธิสัตว์ พุทธเกษตร - แดนมิตรภาพ
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร
เทคนิค : สีอะคริลิคบนผ้าใบ
ขนาด : 200 x 300 เซนติเมตร
ผลงานชิ้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจและแนวความคิด ที่เกิดจากความรู้สึกห่วงใยในสถานการณ์ของโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ของภาวะโลกร้อน ที่สร้างความเสียหายต่อโลกอย่างมหาศาล จึงอยากสื่อสารให้ผู้คนตระหนักและหาทางทำให้โลกได้รับการเยียวยา ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและโลกที่เราอยู่ จะสามารถสร้างสันติสุขให้โลกได้
โดยพระโพธิสัตว์ หมายถึงผู้กระทำดีด้วยความเพียร พยายามที่จะช่วยเหลือหรือคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น การเป็นผู้ให้ การเสียสละ
พุทธเกษตร หมายถึงการทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตอาหารเพียงพอกับคนบนโลกแบบสมดุลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แดนมิตรภาพ หมายถึงสังคมสันติสุข มีน้ำใจไมตรี และเอื้ออารีต่อกัน ต้องสร้างให้โลกได้เห็นถึงเกษตรกรรมแบบดุลยภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นปัจจัยสำคัญของโลกในอนาคต
นับจากวันนี้เป็นต้นไป ความหายนะอันเกิดจากภาวะโลกร้อน วิกฤตการณ์ทางภัยธรรมชาติ มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น น้ำท่วมฉับพลัน ฝนแล้ง ภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้อากาศของโลกร้อนหรือหนาวเย็นเกินไปและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่อมส่งผลสร้างความเสียหายต่อการเกษตรกรรม ประกอบกับประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้น การผลิตอาหารของโลกอาจจะไม่เพียงพอ มนุษย์จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยทางการเกษตร ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและจำนวนมากขึ้นต่อพื้นที่
อาหารคือหนึ่งในปัจจัย 4 ของชีวิต ตราบใดที่เรายังสร้างความอุดมสมบูรณ์ ให้มนุษย์อยู่ดีกินดีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมไม่ได้ ความหวังแห่งสันติสุขของโลกใบนี้คงจะเกิดขึ้นได้ยากและเราอาจจะต้องรอคอยกันต่อไป
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้อาจารย์ปัญญาเล่าว่า การที่ได้มาทำงานชิ้นนี้ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์
ได้เชิญศิลปินมารับประทานอาหารกลางวันด้วยกันและเล่าถึงวัตถุประสงค์ที่อยากจะสนับสนุนงานศิลปะ และใช้งานศิลปะเป็นสื่อกับสังคมมากยิ่งขึ้น เป็นนิมิตใหม่ที่ดีสำหรับในเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็ได้มาดูสถานที่ คิดว่าจะทำงานอะไร ท่านประธานอาวุโสให้ความเป็นอิสระภาพในการคิดหรือทำงานในพื้นที่ตรงนี้ได้
ปกติผมเองก็ถ้าทำงานส่วนตัวแล้ว เราก็จะเริ่มจากตัวเราเอง ทำงานออกไปสู่สาธารณะ แต่งานครั้งนี้ผมถือว่ามันกลับกัน เราต้องคิดจากสาธารณะกลับมาเป็นตัวเองว่าเราจะทำอะไร เหมือนมีโจทย์ที่ให้เราได้ลองคิดถึงว่าถ้างานเราจะมาอยู่ตรงนี้ที่สถาบันผู้นำซีพี เราจะคิดถึงงานศิลปะที่มันจะสื่อสารอะไรได้บ้าง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องทำการบ้านกับงานครั้งนี้มากพอสมควร
อาจารย์บอกว่าว่างานครั้งนี้เป็นโจทย์ใหม่ ความคิดใหม่ นอกเหนือจากการทำงานส่วนตัว เป็นเรื่องที่ท้าทายให้ต้องคิด ต้องทำงานศิลปะสื่อสารออกไป ทำให้คนรับรู้ในทัศนะของเราได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นบทบาทของศิลปินที่จะต้องคำนึงถึงการทำงานศิลปะของเราจะเข้าไปอยู่ในสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของสุนทรียะอย่างเดียว ต้องมีเรื่องของความหมาย เรื่องของความรู้ ที่จะสื่อสารกับสังคมได้
เมื่อทราบว่าจะต้องทำงานศิลปะให้สถาบันผู้นำซีพี ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่จะสร้างผู้นำ สร้างนักบริหารที่ดีออกไปสู่สังคม ก็นึกถึงในเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ การที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ของธรรมชาติ แวดล้อมทำ เกิดโลกร้อน เกิดภัยแล้งหรือเกิดสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เปลี่ยนแปลง เกิดภัยพิบัติเช่นน้ำท่วมฉับพลัน หรือพายุรุนแรงต่างๆ สร้างความหายนะ ความเสียหายต่อโลกอย่างมหาศาล และกำลังเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดคิด อุณหภูมิของโลกที่มันเพิ่มขึ้นแม้ไม่ถึง 1องศา แต่เป็นสถานการณ์ที่จะเยียวยา รักษาธรรมชาติให้เหมือนเมื่อก่อน กลับไปสู่จุดนั้นไม่ได้อีกแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักถึงในสถานการณ์ขณะนี้ ทำอย่างไรที่จะทำให้โลกเกิดสันติสุขได้ จากปัญหาตรงนี้ ก็เลยทำให้นึกถึงว่าถ้าจะทำรูปนี้ จะสื่อสารอะไร
จากจุดแรก ผมก็นึกถึงแนวความคิดที่ผมอยากจะสร้างความสัมพันธ์แห่งดุลยภาพขององค์ประกอบทั้ง3 ส่วน นั่นก็คือ 1.มนุษย์ 2.ธรรมชาติ 3. สังคมโลก อันนี้ก็จะเป็นแนวความคิดแรกที่ผมคิดถึงเลยว่า ผมสนใจที่จะทำงานของผม สื่อสารในเรื่องเหล่านี้ พอผมได้แนวความคิดทั้ง 3ส่วนที่ผมอยากจะสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดดุลยภาพนี้ขึ้นมา ก็เลยเป็นเนื้อหาที่ผมจะนำองค์ประกอบทั้ง 3ส่วนนี้มาสร้างสรรค์ให้เป็นผลงานศิลปะ เป็นที่มาของงานจิตรกรรมชิ้นนี้ ที่ให้ชื่อว่า “พระโพธิสัตว์ พุทธเกษตร แดนมิตรภาพ” ซึ่งมาจากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ เชื่อว่า 3 เรื่องใหญ่นี้ถ้าเราเข้าใจดีแล้วสร้างให้เกิดดุลยภาพได้คือสิ่งที่งดงาม สามารถสร้างสันติสุขให้โลกได้ แม้เราจะอยู่ในสภาวการณ์ที่ต้องน่าตระหนักถึงหรือไม่
นอกจากความสำคัญทั้งองค์ประกอบ 3ส่วนมันเกิดดุลยภาพแล้ว สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือความเจริญก้าวหน้าของโลกในปัจจุบัน นั่นก็คือเรื่องของเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีของผม ผมจะพูดถึงเทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อต้องการตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์มากยิ่งขึ้น แล้วเทคโนโลยีนี่ สำหรับในมุมมองของผมก็คือเทคโนโลยีที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุน เสริมสร้างให้คนเรามีศักยภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการดำเนินไปขององค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือมนุษย์เรามีศักยภาพแค่ศักยภาพของมนุษย์เอง แต่ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มันทำให้มนุษย์สามารถทำในสิ่งที่มนุษย์มีศักยภาพได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมไปอีก เพราะว่าในปัจจุบันเราจะเห็นว่าประชากรของโลกมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรการผลิตอาหารหรือการให้ความสะดวกสบายของมนุษย์ถึงจะมาบาลานซ์กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ถ้าเราสามารถทำตรงนี้และตอบสนองได้ ผมเชื่อว่าการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมโลกก็จะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากจะอธิบายที่มันปรากฏอยู่ในรูปที่ผมวาดอยู่ในผลงานชิ้นนี้ เป็นแนวทางให้ผู้คนคิดบวก มีความหวังกับการแก้ปัญหาของโลก
อาจารย์ปัญญาได้อธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดอีกว่า จากแนวคิดข้างต้นเมื่อไปพิจารณาดูจากภาพผลงานก็จะมีพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยพุทธเกษตร ซึ่งเป็นโครงสร้างของรูปทรงสับปะรดเพราะบ้านผมอยู่ประจวบ ปลูกสับปะรดเยอะ ผมใช้สับปะรดเป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็สื่อถึงความเป็นอาหาร ส่วนแดนมิตรภาพที่ผมสื่อออกไปจะใช้เป็นสี- สีเขียวเป็นสีแทนเรื่องของของธรรมชาติ
ในตรงกลางด้านล่างของพระโพธิสัตว์ก็จะเป็นเรื่องของดินแดนที่เขียวขจี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และพืชพรรณ ในรูปที่เห็นอาจจะเห็นเป็น 2มิติแบนๆ แต่ว่าผมก็พยายามสร้างมิติให้เกิดมุมมองใหม่ในลักษณะที่มองจากที่สูงลงมาที่เรียกว่า Bird Eye view เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างข้างบนคือจักรวาลหรือสวรรค์ ข้างล่างก็เป็นเรื่องของโลกมนุษย์ เป็นการผสมผสานทั้งด้านคติของไทย โดยใช้รูปแบบศิลปะไทยสมัยใหม่เข้ามาผสม
ผมวางโครงสร้างองค์ประกอบ ให้เป็นโครงสร้างที่ดูสงบ เรียบง่าย สื่อถึงความเป็นสันติสุข บางทีงานบางชิ้นของผมดูจะสับสนวุ่นวาย จะเป็นเรื่องของวิกฤตซึ่งผมจะทำงานแนวนี้บ่อย แต่สำหรับผลงานชิ้นนี้ผมต้องการสื่อความหมายให้คนเห็นบรรยากาศและเห็นโครงสร้าง องค์ประกอบของภาพ ที่ออกมาเป็นเรื่องของสันติสุข ความสงบ ในขณะเดียวกันพอเราพูดถึงคติ ความเชื่อในพระโพธิสัตว์หรือคติคำสอนอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเรื่องความดีงามผมก็จะนึกถึงลักษณะวัฒนธรรมของไทย ที่เป็นอีกงานหนึ่งที่ผมใช้งานศิลปะแบบไทยประเพณี แต่ว่ามาสร้างสรรค์ให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัย ขณะเดียวกัน คติความเชื่อ ผมก็จะใช้ในเรื่องของไตรภูมิ ซึ่งเป็นเรื่องของวรรณคดีในพุทธศาสนามาสื่อหรือมาสร้างสรรค์อยู่ในรูปนี้ ก็จะมองเห็นพระโพธิสัตว์ที่ยืนอยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยเทพยดา ในความหมายคือคนที่มาเห็นในรูปก็จะรู้สึกได้ว่าเหมือนมีเทพยดา ความดีงาม หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็แล้วแต่มาอำนวย อวยพรแซ่ซร้องสรรเสริญ สำหรับผู้ที่เข้ามาอยู่ในบรรยากาศของสถานที่แห่งนี้ จะเห็นว่ามีเทพยดาทั้งฝั่งซ้ายและขวารวมทั้งด้านบน ที่อยู่ในหลายมิติ ถ้าดูในไตรภูมิก็จะมีชั้นของสวรรค์ ขณะเดียวกันในรูปครึ่งวงกลมในภาพผลงานผมก็จะสื่อความหมายในเรื่องของไตรภูมิ จักรวาลก็จะรายล้อมด้วยทวีปสำคัญทั้ง 4ทวีป เรื่องไตรภูมิจักรวาลนี้ก็จะเห็นทวีปต่างๆที่รายล้อมด้วยมหาสมุทร ในมหาสมุทรก็จะมีเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ มีเรื่องของปลาเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ เหมือนที่เราเคยมีคำโบราณว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าวในสมัยสุโขทัย ที่เห็นสันติสุข ในน้ำมีปลาในนามีข้าว หากเรามองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์
อาจารย์ปัญญาได้กล่าวเสริมเพิ่มเติมถึงผลงานศิลปะชิ้นนี้ยังคงมีการสอดแทรกเรื่องราวในพุทธศาสนา เพราะอาจารย์สนใจในพุทธศาสนาในช่วงเรียนงานจิตกรรมไทย เวลาเรียนเราต้องไปตามวัดวาเพื่อจะศึกษาจิตกรรมไทยโบราณ ภาพจิตกรรมฝาพนังในวัด นอกจากการศึกษาเทคนิคและรูปแบบแล้ว ก็มีเนื้อหาต้องศึกษาไปด้วย ทำให้สนใจในเรื่องของศิลปะ เรื่องธรรมะมากยิ่งขึ้นและเป็นช่วงที่เริ่มสนใจในเรื่องการปฏิบัติ ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจารย์จะเขียนในเรื่องของวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน เรื่องของความรุนแรง เรื่องของความขัดแย้งขึ้น พอมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เลยเอาเรื่องเกี่ยวกับความปิติสุข สันติสุขทั้งหลายเข้าไปใส่
อาจารย์บอกว่างานชิ้นนี้ใช้เวลานานหลายเดือนโดยเริ่มงานนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ทำมาเรื่อยๆในช่วงที่โควิดกลับมาระบาด ทำให้มีเวลาพิถีพิถันที่จะให้รายละเอียดของงานมากขึ้น ต้องคิดในเนื้อหาในลักษณะใหม่ขึ้นมา ต้อง Concentrate กับงานที่ทำมากยิ่งขึ้น
สำหรับเทคนิค รูปแบบของผลงานชิ้นนี้ อาจารย์ใช้เทคนิคในการเขียนผสมผสานกันระหว่างสีน้ำมันกับเทคนิคที่เป็นสีอะคริลิคที่เป็นลักษณะไทยที่อาศัยความละเอียดอ่อนในการตัดเส้น ตรงนี้ใช้เทคนิคสีอะคริลิค ส่วนพื้นที่ต้องการให้เกิดเทกเจอร์ ให้เกิดพื้นผิวหรือให้เกิดเป็นมิติของสีขึ้นมาจึงใช้สีน้ำมัน ก็จะเป็นอีกงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งถือว่าตอนนี้เป็นช่วงแรกๆที่อาจารย์เริ่มพยายามใช้การเขียนสีน้ำมันกับสีอะคริลิคผสมผสานอยู่ในงานชิ้นเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจารย์จะใช้แต่สีอะคริลิคเป็นหลัก แทบจะไม่ใช้สีน้ำมัน
อาจารย์ปัญญากล่าวว่าประทับใจในสถาบันพัฒนาผู้นำซีพี มีความเป็นธรรมชาติและมีความเป็นทันสมัย ซึ่ง 2 สิ่งนี้จะอยู่ด้วยกันไม่ค่อยมี แต่สถาบันพัฒนาผู้นำซีพีมี 2 สิ่งนี้อยู่ด้วยกัน เป็นแรงบันดาลใจเมื่อมาสัมผัสที่นี่ มีความทันสมัย มีความครบครัน มีความสะดวกสบาย พอมีงานศิลปะเข้าไปทำให้ได้เห็นอยู่ตลอดเวลาก็สามารถทำให้ซึมซับ เรียนรู้ได้โดยอัตโนมัติ เพราะธรรมชาติในโลกนี้จะน้อยลงทุกที เชื่อว่าหลังโควิดผ่านพ้นไปจะทำให้เรามีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ครึ่งหนึ่งของชีวิตจะต้องอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งแวดล้อม เราทำงานในเมือง หลังจากที่หยุดงานจะต้องพาตัวเองหรือชีวิตออกไปชื่นชมหรือไปอยู่ เรียนรู้ ไปซึมซับกับธรรมชาติ เพราะธรรมชาติยังเป็นสิ่งงดงามที่สุดในชีวิตของเรา ที่เราควรจะได้อยู่ร่วมกัน งานศิลปะก็เป็นสิ่งที่พยายามลอก เลียนแบบธรรมชาติเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการได้มีโอกาสกลับไปซึมซับธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมีความสมบูรณ์มากกว่างานศิลปะที่เราสร้างสรรค์
ประวัติศิลปิน
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร
เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2557 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499
ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯจนสำเร็จการศึกษา ปริญญาศิลปบัณฑิตสาขาศิลปไทย จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากนั้นได้รับทุนจากบริติช เคานซิล (British Council)ให้เข้ารับการศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรศิลปะภาพพิมพ์จากSlade School of Fine Art University College London ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
อาจารย์ปัญญาเป็นศิลปินที่ได้รับความชื่นชม และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการสร้างสรรค์ศิลปะไทยประเพณีแนวใหม่ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ วิถีทางการทำงานศิลปะของอาจารย์ปัญญา มักชอบคิดค้น แสวงหาแนวทาง เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาความเป็นตัวตนที่แท้จริงในงานศิลปะ โดยเฉพาะความสนใจในเรื่องหลักธรรมทางศาสนา และการเปลี่ยนแปลงของสถาณการณ์โลก ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆดูเหมือนกำลังก้าวไปในทิศทางของความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกันของเพื่อนมนุษย์
อาจารย์ปัญญาได้จัดนิทรรศการแสดงงานศิลปะมาแล้วมากมายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2528 - 2530 อาจารย์ปัญญาพร้อมทั้งศิลปินไทยรุ่นใหม่อีกหลายท่าน ได้ร่วมกันรังสรรค์จิตรกรรมฝาผนังขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดพุทธประทีป ในวิมเบิลดัน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2538 มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการวาดภาพประกอบหนังสือพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก