ช่วงเวลาสุนทรีย ๙.๕๙ น. ถึง ๑๖.๕๙ น. ณ กรุงรัตนโกสินทร์ ยุค ๒๕๖๓/๒๐๒๐
ช่วงเวลาสุนทรีย ๙.๕๙ น. ถึง ๑๖.๕๙ น. ณ กรุงรัตนโกสินทร์ ยุค ๒๕๖๓/๒๐๒๐
ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง
เทคนิค : จิตรกรรม
ขนาด : 549 x 349 เซนติเมตร
ผลงานชุดนี้เป็นแรงบันดาลใจของอาจารย์ปรีชาที่ต้องการคิดสร้างสรรค์ใหม่ โดยนำเอาองค์ประกอบของงานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะสมัยใหม่ที่เรียกว่าDigital Art มาสร้างเป็นแบบจำลองที่ไม่มีจริง เป็นจินตนาการ เป็นการคิดสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมทางศิลปะ ที่ยังคงมีแนวความคิดหลักที่ต้องการแสดงถึงความเป็นไทย เรื่องราวของสถาปัตยกรรมไทย โดยใช้เทคนิคจิตรกรรมแบบไทยประเพณีมาผสมผสานกับเทคนิคแบบศิลปะตะวันตกเป็นมิติใหม่ในการก้าวข้ามรูปที่เป็นภาพ 2 มิติ 3 มิติ และก้าวข้ามเอาความเป็นมัลติมีเดียสมัยใหม่มาผสมผสานกัน
โดยภาพจำลองนี้ต้องการให้ผู้ที่เห็นภาพเข้าถึงความเป็นสุนทรียะของศิลปวัฒนธรรมไทย ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัยมากรุงศรีอยุธยาจนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สะท้อนถึงผลลัพธ์ของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยสุนทรียะ ปัญญา อัตลักษณ์ของชนชาวสยามที่ต่างประเทศยกย่อง ที่มีความงามในรูปแบบที่หลากหลาย นำความประทับใจ และความรู้สึกซาบซึ้งที่มีต่องานสถาปัตยกรรม เอกลักษณ์ความเป็นไทย ที่สัมผัสได้ตามวัดวาอารามหรือพุทธศาสนสถานต่างๆ
โดยมีเรื่องราวของรูปที่ปรากฏในงาน คือ มุมหนึ่งของสถาปัตยกรรมของสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ไม่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้นมา มุมหนึ่งที่มีซุ้มหน้าต่าง และเป็นมุมหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่ไม่มีอยู่จริง หน้าต่างนี้ก็ไม่มีอยู่จริง ลวดลายหน้าต่างที่ได้ความคิดจากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ บวกรวมกับสมัยอยุธยามาทำเป็นลวดลายปูนปั้น ซึ่งก็ไม่มีอยู่จริง มาสร้างใหม่ ดูคล้ายๆว่าเหมือนจริง คือ ด้านขวามือสุดของรูปนี้ แล้วด้านซ้ายมือเป็นมุมระยะไกลของผนังด้านหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมุมหนึ่ง ด้านหนึ่งของวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่ผู้คนอาจคุ้นเคย แต่ก็ไม่มีอยู่จริง เสมาแบบนี้ ลวดลายแบบนี้ มุมแบบนี้ไม่มีอยู่จริง แต่มาจากแรงบันดาลใจ ความประทับใจในลวดลายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ลายบางลายอาจจะมาจากสมัยอยุธยา สุโขทัย นำมาประกอบใหม่ นำมาสร้างสรรค์ใหม่ เช่นเดียวกับลายซุ้มประตูด้านขวามือ งานด้านซ้ายเป็นแบบไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องสมมุติ แต่คนดูทั่วไปจะรู้สึกว่าดูคล้าย ๆกับซุ้มเสมา คล้าย ๆกับเสาย่อมุมไม้สิบสอง ซุ้มประตูมีลายคล้าย ๆ เทพยดา ซึ่งไม่มีอยู่จริง เป็นจินตนาการขึ้นมาเป็นการคิดสร้างสรรค์ใหม่
นอกจากนี้ยังเป็นการนำเอาภาพ 2 มิติ 3 มิติ ที่คนทั่วไปคิดว่าแตกต่างกัน เมื่อมารวมแล้วสามารถอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจของงานชิ้นนี้ การนำเสนอครั้งนี้ มีการนำมีเดียสมัยใหม่ด้านแสงเงามาประกอบเพื่อทำให้งานสถาปัตยกรรมนี้ ที่มีทั้ง 2 มิติ 3 มิติ ที่มาอยู่ร่วมกันมีแสงเงาที่อยู่ใน 2 มิติที่สมมุติขึ้น เกิดแสงเงาที่คล้ายๆของจริงแต่ไม่ใช่ของจริงเป็นจินตนาการ โดยด้านซ้ายมือ ด้านขวามือไม่มีแสง แต่งานชิ้นนี้จะใช้แนวความคิดแบบ New Media ระบบ 3D ทำให้มีแสงวิ่งผ่านมุมเฉียงเข้ามาจากด้านขวามือผ่านหน้าต่าง และส่องผ่านไปที่ซ้ายมือซึ่งเป็นรูป 2 มิติ จาก 3มิติ ผ่าน 2 มิติ แสงส่องผ่านมาทางหน้าต่าง ฉายบนภาพเขียนด้วยเทคนิคสมัยใหม่ด้วยกล้องฉาย และไม่เพียงแสงเคลื่อนไหวได้ ยังมีเสียงลมพัด มีเสียงกังสดาล มีเสียงพระสวดเข้าไปอีก คนที่มายืนอยู่ในบรรยากาศนี้ก็เหมือนได้ไปยืนอยู่ในมุมหนึ่งของวัด หรือศาสนสถานในช่วงเช้าของกรุงรัตนโกสินทร์ มีแสงแดดค่อย ๆ ส่องผ่าน มีเสียงนกร้อง มีเสียงลมพัด มีเสียงกังสดาล ตามชายคาโบสถ์และมีเสียงพระสวดแว่วๆมา แสงก็ผ่านไปเรื่อยๆจากขวามือไปซ้ายมือและก็ค่อยๆจางหายไป
เป็นการจำลองข้อเท็จจริงมุมหนึ่งของพระอุโบสถในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เอามาถอดประกอบใหม่เป็นความจริงใหม่ ความดีใหม่ และความงามใหม่เหมือนกับว่า นำให้คนไปยืนดูหน้ารูป สามารถดึงเอาบรรยากาศ เวลา รูปแบบงานศิลปะ สถาปัตยกรรม สี แสง เสียง ที่ห่อหุ้มแล้วทำให้รู้สึกว่าเหมือนยกเอาแง่มุมหนึ่งของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือแง่มุมหนึ่งของวัดในสยามมาอยู่ตรงนี้ เกิดเป็นอารมณ์โดยรวม เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ที่ไม่มีจริง
ในงานชุดนี้ยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครือซีพี คือ ขวามือเป็นรูปคล้าย ๆ กับภาพบานหน้าต่าง 3 มิติของจริง ที่เปิดปิดได้ เมื่อเปิดเข้าไปจะเห็นพระพุทธรูปนามว่าพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าพระราชทานแก่เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 มาประดิษฐานอยู่
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
ก่อนที่จะอาจารย์ปรีชาจะเล่าถึงเบื้องหลังของการทำงานชิ้นนี้
อาจารย์ปรีชากล่าวขอบคุณทางเครือซีพีที่ให้เกียรติ ให้โอกาส และต้องการผลงาน องค์ความรู้ ทางด้าน สุนทรียศิลป์ ที่นำไปติดตั้งที่สถาบันผู้นำ
พอได้คุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ของซีพี ผมปิ้งแนวความคิดนี้เลย ผมอยากหา Area Base ผมอยากทำงานนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นการทำโมเดลจำลอง 2 มิติหรือ 3 มิติธรรมดา แต่เป็นการทำงานที่ผมเอาภาพ 2 มิติและ 3 มิติ ที่จินตนาการขึ้นใหม่ทั้งเรื่องแสง สี เสียง แล้วให้ลูกศิษย์ลูกหาที่เก่งแต่ละด้าน มีฝีมืออยู่แล้วมาช่วยกันทำ และทางผู้บริหารของซีพีก็มีอินเนอร์ซื้อแนวความคิดนี้ ผมก็เสนอเป็นภาพร่างต้นแบบไปให้ผู้บริหารซีพีเห็น และก็อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้อธิบายเป็นเอกสาร พอท่านได้เห็นแนวความคิดนี้ก็เห็นชอบ เมื่อผู้บริหารซีพีให้โอกาสก็เลยเกิดงานชิ้นนี้ขึ้นมา ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ คือ การก้าวข้ามจากสิ่งที่เคยทำในรูปแบบเดิมๆแบน ๆ และงานชุดนี้เองตอนหลังผมก็ทำเป็น QR Code เป็นหนังเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วเอามาฉายบนภาพพิมพ์บนงานผม อันนั้นคือการเดินต่อจะเรียกว่าเป็นศิลปะยุค New Normal หรือ 2022 ก็ว่าได้
อาจารย์ปรีชากับภาพร่างต้นแบบทั้ง 5 ขั้นตอน
อาจารย์ปรีชาเล่าว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ท่านไม่ได้ทำคนเดียว ท่านเป็นคนออกแบบสร้างสรรค์ (Creative Design) และเขียนภาพร่างแนวความคิด (Sketch Idea) พอถึงเวลาทำก็มีคนมาช่วยปั้น ถอดแบบ ลงลักปิดทอง มีช่างเอาไปทำ ภาพจิตรกรรมด้านหลังก็มีลูกศิษย์ลูกหามาช่วยกันทำตามแบบภาพร่าง โดยอาจารย์ได้เขียนภาพร่างแบบลายเส้นไว้มี5 ขั้นตอน เพื่อให้เห็นภาพแนวความคิด เป็นผัง เป็นภาพร่างที่ลูกศิษย์มีความเข้าใจในแนวความคิด แล้วนำไปเขียนแบบ 3D และสร้างเป็นโมเดลขึ้นมา ซึ่งงานทั้งหมดไม่ได้ทำคนเดียว มีการแบ่งงานกันไปทำ มีการบูรณาการร่วมกัน อันนี้ถือเป็นการทำงานแบบสหศาสตร์ ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดตอนนี้แต่เกิดมานานแล้ว และไม่ได้เกิดเฉพาะในดินแดนอุษาคเนย์แต่มีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปิรามิด ภูผาเทิบโคลีเซี่ยม ทุกอย่าง ทั้งจิตรกร ปฏิมากร วิศวกร สถาปนิก ต้องช่วยกันหมด
งานชิ้นนี้ใช้ระยะเวลานานแค่ไหน อาจารย์ปรีชาบอกว่างานนี้ต้องประสานการทำงานหลายฝ่าย และเป็นช่วงคาบเกี่ยวมีโควิดระบาดอยู่ด้วย การจัดการในการทำงาน การเข้าติดตั้งงานวุ่นวายพอควร จึงเอาเวลาเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ แต่งานนี้ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยดังกล่าว ผมเป็นคนทำงานแบบมีแบบแผน ทีมงาน ลูกศิษย์ลูกหาทำงานเป็นระบบ ถ้าทำปกติจริงๆ สมบูรณ์แบบไม่น่าเกินเดือน เพราะแบบแผนความคิดเสถียรแล้ว ก็แยกงานไปทำกัน งานนี้ฝ่ายสถาปัตย์ งานนี้ฝ่ายโครงสร้าง มีต้นแบบ มีแนวความคิด มี Proportion ทุกคน ก็ทำแล้วนำไปรวมที่ไซท์งานและประกอบได้เลย อาจารย์ทำหน้าที่เหมือนผู้กำกับ แต่ไม่ได้กำกับคนเดียว ทุกคนให้ความสำคัญกับ First Order ในแต่ละด้าน ไม่ไปควบคุมในองค์ความรู้ของทีมงานให้ทำด้วยความสบายใจ แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ให้ประเด็นไป
อาจารย์ปรีชายังได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในงานชิ้นนี้ ที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าศิลปะเป็นภาษาภาพอันหนึ่ง ที่สื่อสารถึง “ ความจริง ” ที่เป็นปรัชญา หลักคิด แนวคิด ยุทธวิธี วิธีการของศิลปินบนโลกใบนี้ ที่ทำงานศิลปะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วน “ ความดี ” ที่ไม่ใช่การใส่บาตรทำบุญ ความดีงามที่ไม่ใช่ความสวย ความดีหมายถึงผลลัพธ์ ที่เป็นทั้ง Output,Outcome, Impact ที่ให้กับมนุษย์ ความดีที่งานศิลปวัฒนธรรมให้กับมนุษย์ 2 ด้าน ทั้งด้านที่จับต้องได้เรียกว่าTangible กับด้านที่จับต้องไม่ได้ หรือ Intangible ส่วน “ ความงาม ” ก็คือรูปแบบ กรรมวิธี วิธีการ การนำเสนอ รวมความหมายก็คือ “ ความจริง ความดี ความงาม ”
ผมก็เอาหลักการนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ และผมอาจเป็นคนรุ่นหลังยุครัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 9 ผมก็มองกลับไปที่ตัวแปรต้น หรือแรงบันดาลใจที่ผมรับรู้ รู้สึกได้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมา กรุงศรีอยุธยา รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง 9 และต่อด้วยรัชกาลที่ 10 ซึ่งผมก็มองย้อนกลับไปในงานศิลปวัฒนธรรมที่มีความจริง ความดี ความงามในอดีตของไทยเรา ในเรื่องของพหุวัฒนธรรมที่ให้สุนทรียะ ให้ปัญญา ให้อัตลักษณ์แก่ชนชาวสยามที่ต่างประเทศยกย่อง และก็มีความงามที่มีรูปแบบที่หลากหลาย บังเอิญว่าผมเป็นคนยุครัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 9 ต่อ 10 ผมก็มองย้อนกลับไปในรูปแบบที่ผมสัมผัส มีความรู้สึกที่มาจากข้างในกับงานสถาปัตยกรรมและผมเป็นเด็กวัด ผมอยู่กับวัดวาอาราม ผมจึงใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวแปรต้น ซึ่งศิลปินคนอื่นอาจจะใช้ภูเขา ดอกไม้ ทะเลหรืออื่นใด แต่ผมมีอินเนอร์กับงานสถาปัตยกรรม ผมจึงใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวแปรต้น
อาจารย์ปรีชาเล่าถึงแรงบันดาลใจต่อ และกล่าวว่า
แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของผมมาจาก บวร. ( บ้าน วัด โรงเรียน ) บ้านหรือบ้านช่องห้องหอ ความเป็นอยู่ของสถาปัตยกรรมหรือผู้คน ที่เรียกว่าบ้าน วัดวาอารามและวัฒนธรรม โรงเรียนที่หมายถึงการเรียนรู้ การเรียนรู้แบบชั้นเรียนหรือการเรียนรู้จากธรรมชาติ ได้ยินเสียงร้องของนก เสียงลมพัด เสียงกังสดาลหรือเสียงพระสวด ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านตาหูจมูก สัมผัสต่าง ๆ ที่สรุปมาเป็น 3 ฐาน ฐานที่ 1 คือธรรมะ ธรรมะก็คือสัจธรรมของความเป็นอนิจจังของโลก ที่พระพุทธศาสนาหรือทุกศาสนาสอนนั่นคือธรรมะ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของผมอยู่แล้ว โดยใช้แสงกับเงาที่มันเคลื่อนตัวตามการเปลี่ยนแปลงของแสงเงา เป็นตัวแสดงความเป็นอนิจจัง ฐานที่ 2 คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือการเคลื่อนตัวของเวลา เช้า สาย บ่าย ค่ำ เวลาที่เคลื่อนตัวไป แสงแดดที่เคลื่อนตัวไป เหมือนชีวิตคนเรา เป็นไปตามสภาวะ เวลาผ่านไป ก็แก่ไปเรื่อยๆวันหนึ่งทุกอย่างเคลื่อนตัวไป สุข ทุกข์ เป็นตายร้ายดี โรคภัยไข้เจ็บ ก็อยู่บนเวลาที่เคลื่อนตัวไปของสัตว์โลกทั้งหลาย ฐานที่ 3 คือ ธรรมศิลป์ ธรรมศิลป์คือหลักคิดของการสร้างงานศิลปะของผม มาจากกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ ความเชื่อกฎเกณฑ์ของธรรมะมาบวกกับทฤษฎีของศิลปะในสมัยตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา ไล่มาเรื่อย เอามาประกอบใหม่ มาสร้างใหม่ ที่เรียกว่าธรรมศิลป์ ทั้ง 3 ฐานนี้คือคำตอบ ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมศิลป์ ธรรมะคือสัจธรรมของมนุษย์บนโลกใบนี้ที่มีอยู่ในพุทธธรรม คำสั่งสอน ทางพุทธศาสนาก็แฝงอยู่ในเรื่องของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เช่น แสงของแดดที่ผ่านไปกับกาลเวลา ธรรมชาติก็คือกฎของเวลาที่เคลื่อนตัวไป อาจมีเสียงนกร้อง เสียงโน้นนี่นั้นก็คือธรรมชาติ และธรรมศิลป์ก็คือผลรวมที่ออกมาเป็นงาน
อาจารย์ปรีชายังได้ขยายความถึงรูปเทวดาที่อยู่ที่บานประตู สื่อความหมายว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ มีธรรมะ มีธรรมชาติเป็นแรงดลใจ เป็นตัวห่อหุ้ม มีธรรมศิลป์ คือ ทุกคนทำศิลปะได้หมด ทั้งการแต่งตัว ทำอาหาร มีวิถีชีวิต ตกแต่งบ้านให้สวยงามเป็นศิลปะหมด แม้แต่การดำรงชีวิตที่มีธรรม มีศิลปะ มันก็เป็นศิลปะ แต่เหนืออื่นใดไม่พอ ในพื้นที่ของอาณาจักรที่มนุษย์อาศัยอยู่ ทุกพื้นที่ ทุกอาณาจักรต้องมีเจ้าผู้ครองแคว้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังมีหัวหน้าฝูง เจ้าผู้ครองแคว้นก็คือกษัตริย์ หรือไม่ใช่กษัตริย์ ก็จะมีเทพ เทวดา เพราะฉะนั้นความหมายเทวดาในภาพ หมายถึงเทพ เทพารักษ์ เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกมั่นใจ ยึดเหนี่ยวทำความดีในการดำรงชีวิต จากเทพ เทวดาก็เป็นสมมุติเทพก็ คือพระมหากษัตริย์ นี่คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นคำว่าชาติ จะเป็นสยามหรือที่ไหนก็ตาม ก็จะมีเจ้าผู้ครองแคว้นนั้น ที่เราเรียกว่าสมมุติเทพ
ส่วนที่ในชื่อผลงานภาพนี้มีเรื่องของตัวเลขเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเลข 5 กับ เลข 9 อาจารย์ปรีชาอธิบายว่า อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวของอาจารย์ ทั้งนี้เลข 5 คือครู คือวันพฤหัสฯ ส่วน เลข 9 คือเกตุ เกตุ คือสิ่งที่สูงสุด (พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ พระเสาร์ พระราหูและพระเกตุ) ประกอบกับอาจารย์ปรีชามีความรัก ศรัทธา ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9
5 คือครู 9 คือเกตุ ครูของผมก็คือรัชกาลที่ 5 ส่วน 9 คือเกตุ คือสิ่งที่ดีงาม ทำให้ผมสูงส่ง เดินไปข้างหน้าแม้ไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายต่อไป คือรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9ทรงเป็นมหาราชของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการยกย่องมีพระบารมีที่เราใช้คำว่าใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร คนทุกเชื้อชาติ ศาสนา หลายเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกัน ด้วยพระบารมี พระบรมโพธิสมภาร
งานชิ้นนี้ของอาจารย์ถือเป็นตัวอย่างของ Soft Powerทางด้านศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีเรื่องราวของความจริง ความดี ความงาม ที่เรียกว่า สุนทรียะ ซึ่งอาจารย์ได้รังสรรค์ขึ้นมาในรูปแบบใหม่ เป็นการผสมผสานระหว่างงานจิตรกรรม ประติมากรรมและดิจิทัลอาร์ต ยังคงมีแนวความคิดหลักที่ต้องการสื่อถึงความเป็นไทย สถาปัตยกรรมไทย อัตลักษณ์ของไทย โดยใช้เทคนิครูปแบบงานจิตรกรรมไทยประเพณีผสมผสานกับเทคนิคแบบศิลปะตะวันตก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีเอกลักษณ์รูปแบบโดดเด่นชัดเจน
ประวัติศิลปิน
ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง
เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2491
จบการศึกษาประโยคครูประถมการช่าง จากโรงเรียนเพาะช่าง จบการศึกษาศิลปบัณฑิต (จิตกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร เกียรตินิยมอันดับ 2 และศิลปมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์เป็นศิลปินที่มีรูปแบบวิธีการนำเสนอผลงานที่เรียบง่าย เข้าใจในธรรมชาติว่าธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผลที่สัมพันธ์กัน มีเกิดขึ้นมีดับไป มีมืดมีสว่าง จนเป็นที่มาของทฤษฎี “แสงและเงา” และได้สร้างสรรค์เป็นผลงานชุดที่ชื่อว่า “รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา” เป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงสูงสุด จนได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ.2522 เป็นรางวัลสำคัญที่ทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม คนที่ 14 และ พ.ศ. 2552 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2552
อาจารย์เป็นศิลปินที่มีแนวคิดที่ทันสมัย สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาศิลปะให้เป็นแนวทางสร้างสรรค์ศิลปกรรมไทยร่วมสมัยได้อย่างลงตัว อีกทั้งได้อุทิศตนให้กับงานการกุศลโดยร่วมบริจาคผลงานให้กับสาธารณกุศลทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลายาวนาน เป็นอาจารย์สอนศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง