ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา
เทคนิค: ประติมากรรม
งานประติมากรรมชุดนี้ประกอบด้วย ผลงาน 2ชิ้น ชิ้นแรกที่อยู่ทางฝั่งซ้ายมีชื่อว่า”ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และฝั่งขวาชื่อว่า”ความอุดมสมบูรณ์” โดยอาจารย์ศราวุธนำเสนอเป็นแนวคิดที่มาจากแรงบันดาลใจส่วนตัวที่รับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองไทย ที่พูดกันมานานว่าเป็นแผ่นดินที่ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวบวกกับการรับทราบถึงแนวความคิดของเครือซีพีที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในเรื่องข้าว ปลา อาหาร จึงนำแนวความคิดเรื่องที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมและเป็นกึ่งรูปธรรม มารวมกันนำเสนอผ่านงานประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้น
โดยงานประติมากรรมที่ชื่อว่า”ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”อาจารย์ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านชิ้นงานต่างๆที่นำมารวมกัน เป็นแนวตั้งขึ้นให้เห็นเป็นจังหวะการงอกงามขึ้นไป เจริญขึ้นไป โดยมีรูปทรงที่เรียบง่าย อย่างเมล็ดข้าว ปลา มาผสมผสานกัน มีการนำมาวางเรียงกัน ตั้งตรงขึ้นไปก็เปรียบเหมือนเจริญเติบโตขึ้นไปด้วยความงอกงาม แม้กระทั่งฐานที่เป็นหิน เป็นรูปทรงที่มีลักษณะเหมือนงอกงามขึ้นไปข้างบน มีลายหินอ่อนที่เป็นฐานเปรียบเสมือนน้ำ
ส่วนรูปทรงต่อจากน้ำเป็นเมล็ดข้าว ใต้เมล็ดข้าวที่เป็นสแตนเลส เป็นเหมือนชีวิต เป็นเหมือนแสงที่ดันขึ้นไป ที่จะงอกงาม รูปทรงอีกอันหนึ่งที่อยู่ด้านข้างเมล็ดข้าวคือไข่ต้ม และมีปลาอยู่ข้างบนชิ้นงานปลาจะเห็นเหมือนเป็นฟองผุดตรงปาก ดูมีชีวิต ต้องการสื่อให้รู้สึกว่าเป็นปลาที่ยังไม่ตาย ส่วนที่อยู่บนสุดถัดจากปลา เป็นวงกลม 2 วง ต้องการให้คิดถึงชีวิต คิดถึงดวงดาว เป็นบรรยากาศรอบๆ เหมือนอยู่ในท้องนา มองเห็นดาว เห็นพระอาทิตย์ เห็นดวงจันทร์ วัสดุวงกลมเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเจริญ สดใส มีชีวิต ส่วนสีสันที่ใช้กับงานชิ้นนี้ จะเป็นสีของวัสดุ มีทั้งสีเงินที่เป็นสแตนเลสและก็เป็นสีทอง ทองจะสื่อถึงความรุ่งเรือง ชิ้นงานทั้งหมดเมื่อมารวมกันสะท้อนถึงวิถีชีวิตคนไทยที่อยู่กับข้าวปลาอาหารที่มีมายาวนาน สมคำร่ำลือว่า”ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
สำหรับเบื้องหลังการสร้างงานประติมากรรมชุดนี้ อาจารย์ศราวุธเล่าว่าตั้งแต่ได้รับโจทย์จากท่านประธานอาวุโสและดร.อาชว์ เตาลานนท์
ได้ทราบถึงปรัชญาของซีพี ทราบถึงจุดมุ่งหมายของสถาบันผู้นำแห่งนี้ก็คิดถึงเรื่องราวที่จะเป็นสัญลักษณ์และก็ได้ออกแบบมาหลายรูปแบบ และเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจง่ายๆ จึงนำแนวความคิดที่มีอยู่ในใจบวกกับแนวความคิดจากซีพีที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เรื่องอาหาร เรื่องข้าว เรื่องปลา เรื่องความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งหมด
ผมก็เห็นว่าอันนี้น่าจะเอามาทำได้ หลังจากที่คิดเรื่องที่เป็นนามธรรมแล้ว เลยเอาเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมและเป็นกึ่งรูปธรรม อย่างในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นคำที่พวกเราคุ้นเคย ผมเองก็จำคำนี้มานานแล้ว เป็นวิถีชีวิต ผู้คนก็รู้จักคำนี้ เป็นคำที่ผมว่าไพเราะ เป็นเหมือนกวี ผมก็เลยว่าคิดว่าน่าจะหยิบมาทำ เป็นรูปทรงที่ง่ายๆ เช่นเมล็ดข้าว ปลา เอามาผสมผสานกัน แม้กระทั่งฐานที่เป็นหิน คือแทนที่จะเป็นหินทรายเราจะไม่มีความรู้สึกที่เป็นน้ำเลย ผมก็เลยใช้หินอ่อนที่มีลวดลาย คล้ายๆน้ำที่เคลื่อนไหวได้และสามารถผสมผสานกับความคิดได้
อาจารย์ศราวุธเล่าถึงแรงบันดาลใจ
อาจารย์ศราวุธเล่าว่างานประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้ใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานเป็นปีเหมือนกัน
โดยเริ่มทำงานนี้ในปี 2562 ตั้งแต่คิด แล้วก็ลงมือ เริ่มมาปั้นทำต้นแบบ ขยายแบบเท่าจริง ไปถึงการหล่อ ทำต้นแบบก็ประมาณ 3-4เดือน จากนั้นก็หล่อ เวลาใกล้เคียงกัน ประมาณ 4 เดือน แล้วก็เรื่องทำสี ซึ่งเป็นสีพิเศษ เหมือนทำรถยนต์ แล้วมาประกอบ งานครั้งนี้มีการใช้เทคนิคที่สูงแต่ก็ติดเรื่องโควิดก็เลยล่าช้าออกไป ทำให้สิ้นเปลืองเวลา แม้กระทั่งโรงงาน โรงหล่อก็เจอวิกฤต ต้องให้พนักงาน คนงานหยุดหรือเปลี่ยนงาน แต่ก็ดีใจที่งานออกมาเนี้ยบมาก สมบูรณ์แบบ ด้วยเทคนิค เดียวกับที่ทำรถยนต์ ประณีต เหมือนทำรถยนต์
งานประติมากรรม “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวและ”ความอุดมสมบูรณ์” ผมคิดพร้อมกัน แต่ทำชิ้นงาน “ความอุดมสมบูรณ์” ก่อน ส่วน”ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” งานจะเบาหน่อยและเรียบง่าย อย่างเม็ดข้าวกับไข่ที่มาแตะกัน ก็ผิดธรรมชาติ มันอยู่ไม่ได้ แต่ด้วยจังหวะ องค์ประกอบ เนื้อหาและการวางเอียงให้มันบาลานซ์กัน แล้วมีปลาเข้ามา ต้องใช้ชั้นเชิงนิดหน่อย ความจริงมันไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ แต่เราเอาทั้งสองมาอยู่ได้ ไม่เพียงการยึดอย่างเดียว แต่ด้วยการบาลานซ์ของงาน
งานชิ้นนี้ผมพอใจ แม้จะไม่ได้เป็นงานส่วนตัว แต่ด้วยการออกแบบ ด้วยการดีไซน์ และเนื้อหาที่ทำผมชอบ เพราะเป็นคาแรคเตอร์ที่สะท้อนตัวผม เช่นความเรียบง่าย งาน”ในน้ำมีปลาในนามีข้าว
มีอะไรให้ผมทำเยอะแยะ แต่ผมก็เอาสาระที่เกี่ยวข้องกับทางซีพีด้วย และรูปทรงที่ผมชอบด้วย ผมชอบรูปทรงกลมๆ เรียบง่าย อย่างรูปทรงไข่ไก่ผมก็เคยทำ รูปทรงของปลาผมก็เคยทำ แม้กระทั่งเมล็ดข้าวผมก็เคยทำ ทำเป็นโมไบล์ พวกนี้ผมก็ชอบอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนเป็น มาหล่อสัมฤทธิ์ หล่อโลหะ หล่อทองเหลือง น้ำหนักของประติมากรรมที่หนักเป็นตัน เฉพาะตัวหินอ่อนก็เป็นตัน ตัวโลหะหลายร้อยกิโลกรัม ปลาอ้วนหนัก 300-400 กิโลกรัม ด้วยความหนักแน่น ให้อารมณ์ เห็นหินก็รู้แล้ว ลวดลายและรูปทรงที่มันตั้งตรงแต่มั่นคง ความหนักแน่น อารมณ์มันจะลงที่พื้นเป็นแนวดิ่งและด้วยวัสดุที่เป็นหิน วัตถุที่เป็นโลหะ โลหะที่หล่อ พอเอามารวมกันมันอยู่ในแกนแนวตั้ง หนักแน่น มั่นคง เด็ดเดี่ยว มันต้องมั่นคงถึงจะพุ่งได้และต้องบาลานซ์ แข็งแรง ถึงแม้จะรูปทรงอ้วนๆแต่ก็พุ่งขึ้นไปเหมือนปลาวาฬที่ใหญ่แต่กระโดดพุ่งขึ้นเหนือน้ำ มันต้องมีกำลังภายในถึงจะพุ่งตัวขึ้นไป ไม่ใช่ถูกห้อยหรือดึง “อาจารย์ศราวุธอธิบายถึงเบื้องหลังเกี่ยวกับเรื่องราวของรูปทรงในชิ้นงาน
ส่วนสีที่ใช้ก็เป็นสีของวัสดุ เดิมทีวัสดุเหล่านี้จะหล่อด้วยโลหะที่เป็นทองเหลือง เงา งาม ตอนที่หล่อก็สวย แต่พบว่า พอปล่อยทิ้งไว้มันจะดำโดยธรรมชาติของวัสดุเอง ก็เลยต้องปรับมาโดยการใช้สี สีของวัสดุตัวนั้นมาแทนค่า วัสดุแต่ละชิ้นจะมีคุณค่าของมัน อย่างสแตนเลสที่มันเงา ซึ่งวัสดุเหล่านี้ก็เป็นวัตถุธาตุที่อยู่บนโลกนี้ แต่อยู่ในพื้นดินที่เราใช้กันอยู่ร่วมสมัย เราจะเห็นอย่างนั้น แต่สมมุติงานนี้ถ้าเราเอาดินมาทำ ดินเผา อารมณ์ก็จะต่างกัน แต่โลหะจะดูแวววาว รุ่งเรือง สดใส มีพลังด้วยตัวเองเมื่อโดนแสงก็จะมีการสะท้อนเข้าออกๆ
อย่างไข่ ผมก็ได้ไอเดียมาจากไข่ต้ม แล้วผมก็ผ่าเพื่อให้เห็นข้างใน สำหรับตัวงานก็ดูสนุก มีความเคลื่อนไหว ชิ้นงานแต่ละจุด แต่ละชั้นจะหมุนได้ เปลี่ยนองศา เปลี่ยนมุมได้ เราสามารถหมุนปลาไปมาได้ เพราะงานชิ้นนี้อยู่ติดผนัง ซึ่งปกติงานระติมากรรมจะตั้งแสดงอยู่เดี่ยว ดูได้รอบตัว แต่งานชิ้นนี้ติดผนัง สามารถหมุนเปลี่ยนมุมได้ ทั้งสองชิ้น”อาจารย์ศราวุธเล่าถึงแรงบันดาลใจในชิ้นงานที่เป็นไข่
สำหรับประติมากรรม “ความอุดมสมบูรณ์” อาจารย์ศราวุธเล่าว่าเป็นรูปทรงที่อาจารย์ชื่นชอบ และส่วนตัวก็ชอบทานปลาด้วย ปลาเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคน อยู่กับคนมานาน และอาจารย์เคยทำเรื่องปลามานาน ปลาเหมือนเป็นชีวิตแรกที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับน้ำ มันมีน้ำแล้วมีปลา เหมือนคำว่าในน้ำมีปลา เลยประทับใจและเคยทำงานเรื่องปลามาหลายชิ้นเหมือนกัน แต่พอมาเป็นงานนี้ ปลาจะ อ้วนๆหน่อย เป็นรูปทรงที่อาจารย์คิดขึ้นเอง
เดิมที ผมทำปลาเป็นแนวนอน ก็รู้สึกว่ามันหนัก พอแหงนหน้าขึ้น ที่มันกลมๆ หนักๆมันจะพุ่งขึ้นไป มันจะรู้สึกเบาด้วยเรื่องของเส้นที่พุ่งขึ้นไป แต่ถ้าเป็นแนวนอน เส้นก็จะทำให้รู้สึกหนักๆ ทำให้ความอุดมสมบูรณ์มันเบา ซึ่งงาน 2ชิ้นนี้ไม่ได้แยกระหว่างตัวงานกับฐาน แต่ฐานเป็นเรื่องเดียวกัน สนับสนุนกัน ไม่ใช่แค่ตั้งแท่นแล้วเอางานประติมากรรมไปตั้ง แต่ผมจะคิดทั้งหมด ตั้งแต่พื้นดินขึ้นมา รูปร่างเป็นอย่างไร จากฐานกว้างแล้วแคบขึ้นไปทำให้ดูเหมือนงอกงาม เป็นมูฟเมนท์ มีการเคลื่อนไหวและมีลวดลายของหินที่พิเศษคือลายของหินอ่อนที่แสดงความเป็นเรื่องของน้ำ
แต่ถ้าสมมุติงานชิ้นนี้ผมใช้ดิน หินทรายหรือเป็นไม้จะไม่ได้อารมณ์แบบความรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ อย่างความมันวาวก็เป็นเรื่องสื่อสะท้อนเรื่องความคิด เพราะเราเอาวัสดุที่มาจากความคิดของมนุษย์ ที่เค้าเอามาคิด ประดิษฐได้ เอามาเป็นเทคโนโลยีในการสร้าง เรื่องสี เรื่องโลหะเป็นความคิดของมนุษย์ เป็นนวัตกรรมที่สร้างออกมาได้สมบูรณ์ที่ร่วมกับชีวิตมนุษย์ และเทคนิคพวกนี้บ้านเราทำได้ดี บางประเทศต้องมาหล่อที่บ้านเรา บ้านเรามีเทคนิคที่สูง อย่างหล่อพวกอัลลอยด์ หล่อโลหะสัมฤทธิ์
อาจารย์ศราวุธยังเล่าถึงเบื้องหลังที่น่าสนใจ ไม่เพียงเกี่ยวกับการปั้น การหล่อ การกลึง แต่งานประติมากรรม 2ชิ้นนี้ที่สำคัญ คือเคลื่อนไหวได้ เพราะปกติงานประติมากรรมจะนิ่ง แต่งานชิ้นนี้อาจารย์ทำเป็นแบบนอคดาวน์ เป็นส่วนๆ สามารถเคลื่อนได้ ซึ่งงานแบบนี้ไม่ค่อยได้ทำ บางทีก็เป็นชิ้นเดียวไม่ได้ใช้ความคิดมาก แต่งานนี้พอมีองค์ประกอบเข้ามา ซึ่งจะให้นิ่งๆก็ได้ แต่อาจารย์ทำไม่ให้นิ่ง เปลี่ยนมุมได้และเข้ากับคอนเซพท์ของงานพอดี
อาจารย์ศราวุธยังกล่าวถึงงานประติมากรรมชุดนี้ในแง่มุมของศิลปะ เรื่องความจริง ความดี ความงาม ความจริงที่ว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ จะมีปัญหาบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ความดีก็เป็นการสอนให้คนเป็นคนดี ความงามทางศิลปะ ซึ่งรสนิยมคนไม่เหมือนกัน แต่ด้วยรูปลักษณ์ของธรรมชาติคนส่วนใหญ่รับได้ไม่ยาก ดูใสๆ สะอาด วาวๆ ดูมีชีวิตชีวา สนุก ตื่นเต้น เป็นความดีที่เราต้องช่วยกันดูแลสิ่งดีๆในบ้านเมืองเราให้ยั่งยืน คิดดีทำดี ซีพีก็เป็นคนหนึ่งที่คิดดี ทำดี ไม่ใช่ทำเพื่อร่ำรวยหรือส่วนตัว พัฒนาสิ่งใหม่ๆออกมา พยายามทำแม้กระทั่งเรื่องศูนย์การเรียนรู้ อันนี้เป็นเรื่องวิเศษมาก นอกเหนือจากรัฐบาล หน่วยงานราชการ และยังสอนคนรุ่นหลังอีก แค่ตัวเองเจริญไม่พอ แต่เป็นห่วงคนรุ่นหลัง เหมือนเป็นอมตะ คนแต่ละรุ่นมีการสืบทอด คิดว่าตรงนี้เกิดประโยชน์มาก น่าจะมีองค์กรอื่นๆทำแบบซีพี
โดยสรุป เรื่องราวของ2ประติมากรรม “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”และ”ความอุดมสมบูรณ์” ก็คือเรื่องราวที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองไทย ที่อุดมสมบูรณ์มานาน ไปที่ไหนก็มีแต่พืชพันธุ์ที่งอกได้ตลอด เหมือนบ้านเมืองเรามีดินที่ดี อะไรก็งอกงาม ภูมิประเทศของเราอยู่ในชัยภูมิที่ดี และการที่เลือกแนวคิดตรงนี้มาใช้ นอกจากคิดเรื่องสัญลักษณ์ ปรัชญาแล้ว สัญลักษณ์ของซีพีคืออาหารการกิน อุดมสมบูรณ์ ซีพีมีความตั้งใจ ทำเรื่องอาหารเป็นเรื่องเป็นราว มีความตั้งใจมากๆ ทำให้บ้านเมืองมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ มีคนที่คิดดี ทำดีแบบซีพี
อยากฝากทิ้งท้าย ให้ข้อคิดของเรื่องศิลปะ ผมว่าศิลปะมันอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ศิลปะอาจไม่ใช่แค่รูปปั้น รูปเขียน แม้แต่การทำอาหารก็ต้องใช้ศิลปะ ทำอย่างไรจะอร่อย จะปรุงอย่างไรจะอร่อย แม้กระทั่งจะเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชต้องใช้ศิลปะ ต้องรักและมันก็จะมีความงามของมัน เหมือนปลูกดอกไม้ก็ได้ดอกสวยๆ ทำให้จิตใจเราดีแล้ว ยังเจริญเติบโต สวยงาม ชีวิต วิถีชีวิตของมนุษย์และความคิดสร้างสรรค์ ตรงนี้สำคัญคือทุกคนต้องมีความคิดสร้างสรรค์ อยู่กับชีวิตที่เราเกิดมา ต้องภูมิใจที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้ ไม่ดีก็แก้ไข เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เหมือนท่านประธานอาวุโส ขยันทำ เหมือนผมเขียนรูปมากๆก็เก่งขึ้น ทุกคนต้องขยันหมั่นเพียร มุมานะ ตั้งใจ อย่าท้อแท้ ปัญหาก็มีบ้าง เป็นธรรมชาติ แต่มองโลกแง่บวกไว้
ประวัติศิลปิน
อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา
เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2495
จบการศึกษา ศิลปบัณฑิต (ประติมากรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชา ประติมากรรม บัณทิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม)
อาจารย์ศราวุธสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมร่วมสมัยจนมีลักษณะโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ในวงการศิลปะ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยมีแรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติที่มีวงจรชีวิตเจริญงอกงามและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา รูปทรงธรรมชาตินั้นให้ความรู้สึกเบ่งบาน เคลื่อนไหว มีชีวิต ถูกนำมาพัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ประสานไปกับโครงสร้างเรขาคณิต มีความแข็งแกร่งหนักแน่น ให้ความรู้สึกของพลัง ที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามของสติปัญญาต่อจิตใจของผู้ชม
อาจารย์ศราวุธยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อและวัสดุสมัยใหม่ในการสร้างสรรค์วัสดุที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทั้งวัสดุทางสังเคราะห์อุตสาหกรรมและวัสดุสำเร็จรูปโดยสร้างประสานความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุสิ่งของกับปฏิกิริยา อารมณ์และจิตใจของมนุษย์นับเป็นการผสมผสานแนวคิดกับลักษณะการสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะอย่างยิ่ง ได้ร่วมแสดงผลงานและได้รับเชิญ ให้ร่วมกิจกรรมด้านศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง ได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๓ และครั้งที่ ๓๑ เป็นอาจารย์สอนศิลปะและเป็นผู้ริเริ่มสร้างงานประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อม ณ จังหวัดสงขลาและจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่และสืบสานงานศิลปะของชาติ