ดอยแม่สลองนอก
ดอยแม่สลองนอก
อาจารย์สมวงศ์ ทัพพรัตน์
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด : 100 x 150 เซนติเมตร
ติดตั้ง : VIP Drop off อาคารชั้น 1
ภาพนี้เป็นภาพที่อาจารย์สมวงศ์ศิลปินผู้วาดภาพเกิดความประทับใจต่อบรรยากาศของดอยแม่สลองที่ตั้งอยู่ในตําบลแม่สลองนอก อําเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2562 ซึ่งอาจารย์สมวงศ์เฝ้ามองความงามตั้งแต่ เช้าสาย บ่าย เย็น จนกระทั่งพลบคํ่า ภายใต้บรรยากาศ ของสีสันในบริเวณอันกว้างใหญ่นี้ จะมีเรื่องราวของวัด โรงงานบ้าน คนเป็นหย่อมๆ บางพื้นที่เป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่ ในขณะที่บางพื้นที่ใช้ทําการเกษตร โดยมีทั้งพื้นที่ ที่ปลูกแล้วและอยู่ใน ระหว่าง การเตรียมพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกใหม่ซึ่งดูโล่งเตียน นอกจากนี้จะเห็นถนนลูกลัง เป็นเส้นทางคดเคี้ยวไต่ไป ตามเนินเขาโดยมีวัฒถุประสงค์เพื่อการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักซึ่ง นานๆจะเห็นรถวิ่งบนถนนสักคันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ คือความจริงของความงามและวิถีชีวิตที่อาจารย์สมวงศ์เฝ้ามอง
ในการสร้างสรรค์เป็นผลงานจิตรกรรมนั้นอาจารน์สมวงศ์ให้ความสําคัญกับบรรยากาศของสีสันที่แสดงเวลาและสีสันจากสรรพสิ่งที่ประกอบกันจนเป็นเรื่องราวของดอยซึ่งถูกครอบงําด้วยสีของบรรยากาศเวลาสีทั้งหมดจะบรรจงปาดป้ายด้วยรอยแปรงเล็กๆ ทับซ้อนกันหลายชั้นอย่างบางเบา ทําให้เกิดการประสานสัมพันธ์กันของสีที่แสดงมิติทั้ง ทาง กว้างและลึกจนกลายเป็นสาระใหม่ตามจินตนาการของอาจารย์สมวงศ์นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมโยงกับความ เชื่อในเรื่องวัฏจักรของการเกิดดับอันเกิดจากการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและสาระทางธรรมชาติที่มี ความจําเป็นต่อการพัฒนาการเกษตรแบบหมุนเวียนด้วยทัศนะในการนําเสนอความงามที่แฝงความจริงตามความ เชื่อส่วนตนนี้จึงส่งผลให้ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้มีความงดงามในเชิงสงบเงียบและปล่อยวาง
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน
อาจารย์สมวงศ์เล่าว่าภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจโดยบังเอิญ เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวญาติพี่น้องของภรรยาอาจารย์จัดพบปะญาติ พี่น้องกันไปพักที่รีสอร์ทตรงดอยแม่สลอง
ได้เห็นบรรยากาศของดอยในมุมสูง ได้เห็นสเปชเกี่ยวกับภูเขา ซึ่งตอนนั้น ได้พักค้างคืน ได้ซึมซับบรรยากาศ ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น จนกระทั่งพลบค่ำ กลางคืนก็มีแสงไฟยิบๆจึงได้สเก็ตช์เป็นภาพสีไม้ เป็นแผ่นเล็กๆ หลายภาพ สเก็ตช์ในช่วงเวลาต่างกัน ทั้งเช้ากลางวัน กลางคืน มีฝนตกปรอยๆ บันทึกไว้เต็มไปหมดหลายรูปรวม ทั้งถ่ายภาพเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่ากลับมากรุงเทพมีเวลาก็จะเอามาขยายใหญ่
ถามผมว่าไปประทับใจอะไรคือปกติงานผมจะทำเรื่องเกี่ยกับความสงบ คนที่ทำเรื่องความสงบพอไปเจอหุบเขาเวิ้งว้างเห็นสเปสพื้นที่ว่างมากก็รู้สึกสงบ อันนี้ก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้ เกิดความชอบขึ้น แต่ในขณะนั้นก็มีเรื่องของเวลา เช้าสาย บ่าย เย็น เข้ามาเกี่ยวข้อง มันเปลี่ยนไปเรื่อย คือต้นไม้ ภูเขา พื้นดินอะไร ต่างๆเราเห็นมันคงที่แต่เรื่องของเวลาเปลี่ยนสีก็ปรับเปลี่ยนไปทั้งวันวนไปวนมา จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำมันเห็นเบื้องต้น เป็นความงามตามที่เราเห็นตาม ข้อเท็จจริง”อาจารย์บอกเสริมเพิ่มเติม
อาจารย์บอกเสริมเพิ่มเติม
อาจารย์สมวงศ์เล่าอีกว่า ก่อนที่จะลงมือทำภาพจริงอาจารย์มีการทำสเก็ตช์ภาพ คำว่าสเก็ตช์ภาพของอาจารย์มี 2 อย่างคือสเก็ตช์ออกมาเป็นภาพ กับสเก็ตช์เป็นความคิด สเก็ตช์ความคิดขึ้นแล้วค่อยลงมือทำ
อาจารย์เล่าต่อว่าเวลาทำงานชิ้นนี้ก็มีขั้นตอนในการทำงาน มีการวางแผนเป็นระบบ ต้องเลือกว่าจะเอาบรรยากาศ แบบไหน แบบนี้เวลานี้ ซึ่งเป็นเวลาสายๆที่มีแสงแดดหน่อยยังอยู่ในช่วงที่ไม่ร้อนแรงมากก็เลือกเอาเวลานี้ ก็ลงพื้น เวลาลงพื้นต้องพิถีพิถันการลงพื้นหมายถึงการลงแสง ว่าช่วงเวลานี้จะเป็นแสงแบบไหน ต้องเลือกสีเหลืองเหลือง แบบไหน เหลืองอ่อนๆ ความรุนแรงของแสงมันแผ่วเบาหรือมันแรงแค่ไหนลงพื้นไปก่อน ลงพื้นไปทั้งแผ่นก่อน จากนั้นก็จะลงสีที่เป็นเงาของแสงซึ่งยังไม่เกี่ยวกับสีตามต้นไม้ แล้วก็ทำเงาไป ไล่เงารวมๆไป จากนั้นก็มาตบแต่ง แต่งเงาให้มัน ละเอียดขึ้น ก็เหมือนกับการวาดภาพขาวดำ แต่ของอาจารย์เป็นสีแค่แสงกับเงาเท่านั้นเอง มี 2สี ทำให้เงาอยู่ใกล้ใช้สีอย่างไร เงากลางๆใช้สีอย่างไร เงาที่ไกลสุดไปถึงท้องฟ้าจะทำอย่างไรก็ไล่ตรงนี้
จากนั้นก็มาพิจารณาสีที่เป็นความจริงเรื่องของวัตถุ มีพื้นดิน มีโขดหิน มีบ้าน มีวัดอยู่ไกลๆมีพืชที่ถูกปลูกเป็นแปลง เกษตรและก็มีต้นไม้ตาม ธรรมชาติก็ดูสีที่มันขึ้นภาพรวมๆจากใกล้ไปไกล ไล่ไปเรื่อยๆ ทีละนิดๆจากนั้นก็มาตบแต่ง ให้เกิดมีระยะ ถ้าสีที่มันอยู่ใกล้ก็จะเห็นสีเป็นวัตถุมากขึ้น ถ้าไกลก็ผ่อนลงๆเพื่อให้มันกลืนกับบรรยากาศทั้งหมด ฉะนั้นบรรยากาศจะเป็นเรื่องนำแล้วก็มาดูสรุปยอดให้เป็นรายละเอียดตบแต่งให้มันเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็เกิด เป็นผลงานชิ้นนี้ขึ้น
วิธีการทำงานของผมจะลงทีละสีผมจะไม่บีบสีหลายสีแล้วจิ้มทีละสี เช่นเหลืองแล้ว แดง แต่จะทำทีละสี เหลืองก็เหลืองเขียวก็เขียว เปรียบเทียบเหมือนทำซี้ลค์สกรีนทีละสี หรือ เหมือนกับพิมพ์หนังสือพิมพ์ทีละสี ไล่ไป ซ้อนไป ในแต่ละสีก็มีอ่อนแกก็เกิดการทับซ้อนของสี แต่การทับซ้อนของสี ของผม จะสังเกตว่ามันจะบางเบาจะไม่ใช่ทาสีทับซ้อนแบบโป๊ะลงไป
อาจารย์บอกเสริมเพิ่มเติม
เทคนิคของผมได้มาจากทักษะการเขียนภาพสีน้ำเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานซึ่ง บางคนก็ปาดทีเดียว บางคนก็ชอบทับซ้อน สำหรับผม ผมชอบเขียนทับซ้อน บางทีผมซ้อนตั้ง 6ชั้น 7ชั้นแต่ก็ดูไม่ขุ่นมันต้องมีวิธี ผมก็มาจับทางได้ว่าให้มัน ได้อารมณ์แบบสีน้ำก็คือเวลาเราลงสีอะไรไป ลงสีไปครั้งที่1 พอครั้งที่2 สีพื้นต้องโผล่ให้เราเห็นมองทะลุจากสีแรก ไปสีก่อนหน้านี้ให้ได้ 3ชั้น 4ชั้น 5ชั้นต้องมองทะลุออกไป มันจะบางๆซ้อนกัน ก็อาจจะใช้น้ำมันมากบางส่วน ก็แบบไม่ใช้น้ำมันเป็นสีบางๆ แผ่วๆทับไปทีละชั้น แต่ต้องระมัดระวังว่าแต่ละจุด อย่าไปทับจนกระทั่งทึบตันเพราะฉะนั้นสีของผมจะดูโปร่งใส เหมือนมองทะเล กลายเป็นสเปสเป็นความว่างเป็นมิติของความว่างซึ่งก็จะตรงกับจุดมุ่งหมายของ การแสดงออกเอาความสงบที่เป็นความว่าง ความไม่มีอะไรแสดงถึงวัฐจักร อะไรต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นหมุนเวียน เปลี่ยนไปมายึดติดอะไรไม่ได้ปล่อยใจให้ว่างโล่ง ไม่ยึดติดกับมันกลายเป็นความสุขที่เราเห็น เรารู้สึกซึ่งก็เป็นผลจากการสะสมของ ผมในการนั่งสมาธิ มุ่งไปหาความสงบที่เป็นความว่างมันจะลึก ลึก ลึกขึ้นเรื่อยๆ บอกไม่ได้ว่ามันลึกถึง ตรงไหนเพราะคนที่ปฏิบัติจะได้ไม่เท่ากัน ไม่รู้จะหาคำพูด อะไรมาอธิบายได้ก็ถ่ายทอด ออกมาเป็นผลงานศิลปะ
อาจารย์สมวงศ์บอกว่าภาพนี้ไม่ใหญ่มากแต่ละขั้นตอนใช้เวลาไม่มาก วันแรกก็ลงพื้นไปก่อน แล้วก็ทิ้งให้แห้ง ก็หมดไป1วัน พอมาขั้นที่ 2ก็เริ่มลงเงารวมๆ ผ่านไปก็จบไปอีกวันก็สองวัน แล้วก็มาตบแต่งเงาที่มีระยะใกล้ไกล บางทีวันหนึ่งพอใจหรือยังไม่พอใจก็แต่งอีกวันให้มีความลึกตื้น มีแสงเงา ใกล้ ไกล บรรยากาศแสงเงาแต่ส่วนวัตถุ ที่เป็นถนนหนทาง ต้นไม้ ก็มาทำทีละอย่าง ทำภาพต้นไม้ก่อนขึ้นภาพต้นไม้ ต้นไม้รวมๆ ถนนรวมๆ นี่ก็หมดไปอีกวัน แล้วค่อยมาทำให้เกิดระยะใกล้ไกล ค่อยๆผ่อนสีใกล้ ไกล อีกวัน แล้วก็มาตบแต่งรายละเอียด ถ้าไม่นับกระบวนการ ที่แต่แรกเริ่มจากแรงบันดาลใจก็หลายวัน แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ออกมาเป็นภาพก็อีกชุดหนึ่งพอเป็นภาพก็ประมาณ 7-8 วัน งานชิ้นนี้เร็ว เพราะมีแรงบันดาลใจอยู่แล้วไม่ต้องไปหา เพราะฉะนั้นงานชิ้นนี้รวมแล้วก็ 10 วัน ทำที่สตูดิโอ ที่บ้านเมื่อปี 2563
อาจารย์สมวงศ์เล่าอีกว่าเทคนิคการใช้สีทับซ้อนแบบบางเบาของอาจารย์เหมือนกับการทำสมาธิ พอพุทโธ แล้วป้าย พุทโธแล้วป้าย แม้แต่รอยแปรงที่ปาดใส่เล็กๆ ก็คิดในใจพุทโธๆสมาธิก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ประสานกับสิ่งที่เราสะสมไว้ ก็มาประกอบกันงานของอาจารย์จึงออกมาดูนิ่ง มีสเปส มีความว่าง แต่ก็สื่อถึงความมีชีวิต
ในตอนท้ายอาจารย์สมวงศ์ยังให้คำแนะนำในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะประการแรกควรหาโอกาสไปดูงานศิลปะที่มีมาตรฐานก่อน งานที่มีมาตรฐานตามพิพิธภัณฑ์ไปดูงานศิลปะที่มีการประกวดกัน ถึงจะได้รางวัล ไม่ได้รางวัลแต่มีการคัดเลือกกันมาแล้ว ก็ถือว่าโอเค หรือไปดูศิลปินที่ทำงานต่อเนื่องยาวนานมีชื่อเสียง ซึ่งแต่ละคน ต้องมีของดีไปดูงานเหล่านี้ก็จะทำให้เราได้เรียนรู้เร็วขึ้น ประการที่สองเลือกที่จะดู งานศิลปะ หากเราไม่รู้เรื่องงาน ศิลปะ เราก็ไปเลือกดูทิวทัศน์ ดอกไม้ดูให้รู้เรื่องก่อน อันที่เป็นนามธรรมอย่าเพิ่งไปดู เวลาไปดูก็ทำใจกลางๆ ดูทุกอย่าง พอดูแล้วลำดับต่อมา ดูว่าศิลปินเค้าแสดงออกอะไรแล้วค่อยศึกษา
อาจารย์บอกว่าการแสดงออกในงานศิลปะจะมี3 เรื่อง คือ ความงามอารมณ์ความรู้สึกและความคิด 3 อย่างนี้ ขึ้นอยู่กับว่างานศิลปะชิ้นนั้น ข้อไหนจะโดดเด่นเช่นงานของอาจารย์สมวงศ์ จะเน้นความงาม ความรู้สึก ความคิดก็มี แต่บางเบากว่าอย่างความงามบางคนเน้นเปรี้ยงปร้าง เป็นอารมณ์ภายใน บางคนความคิดมาก่อนหรือบางงานศิลปะ เป็นความคิดล้วนๆไม่มีความงาม ดูยากหน่อยก็ต้องคุยกับผู้รู้คุยกับศิลปิน แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจก็ผ่านไป พยายามสังเกตว่าเราสั่งสมก็จะค่อยๆเข้าใจ ก็ดูให้ลึกกว่านั้นอีกหน่อยว่าเอกลักษณ์เค้าอยู่ตรงไหนงานศิลปะที่ดี จะมีเอกลักษณ์ อาจจะเป็นเอกลักษณ์เรื่องอารมณ์ เงียบๆเหงาๆหรือเอกลักษณ์เรื่องความเคลื่อนไหว เอกลักษณ์การใช้สี การใช้เส้น ค่อยๆดูก็จะเริ่มเข้าถึง หลังจากเอกลักษณ์ก็มาดูว่างานดีแค่ไหนก็ดูเรื่องความเป็น เอกภาพเอกภาพของการจัดวาง ซึ่งแรกๆอาจไม่เข้าใจ พอดูบ่อยๆก็จะเริ่มรู้การจัดวางอันไหนเข้าท่ากว่า องค์ประกอบลงตัวไม่ลงตัว และเอกภาพอีกอันคือเอกภาพทางเนื้อหาจะต้องประสานกันระหว่างเนื้อหากับรูปทรง การจัดวางที่แสดงออกอย่างเช่นทำเรื่องความสงบ แต่มีแต่ความวุ่นวายเต็มไปหมด ฉะนั้นเนื้อหาก็ไม่ใช่ดูว่ามัน ประสานกันให้เกิดเอกภาพ ดูรูปทรง ดูเนื้อหาดูว่าเอกภาพเกิดขึ้นแล้ว อันสุดท้ายก็มาดูเรื่องเทคนิค วิธีการ เทคนิคแต่ละคนไม่เหมือนกันความช่ำชอง สไตล์ ก็จะทำให้สามารถดูงานที่แตกต่างกันและท้ายสุดในการดูงาน ศิลปะจริงๆต้องดูอย่างสม่ำเสมอ ว่างเมื่อไหร่ก็ไปดู สะสมก็จะเกิดทักษะในการดูงานศิลปะ เกิดความช่ำชอง โดยที่เราไม่ต้องไปเรียน
ประวัติศิลปิน
อาจารย์สมวงศ์ ทัพพรัตน์
เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2494
จบการศึกษา ศิลปบัณฑิต (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
และศิลปมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
การสร้างงานของอาจารย์สมวงศ์ในช่วงแรกจะเน้นโต้ตอบธรรมชาติต่อมาอาจารย์มีโอกาสปฏิบัติธรรม ได้เดินทาง สัมผัสกับธรรมชาติเริ่มเห็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง จึงนำพุทธปรัชญามาใช้ในงานงานอาจารย์จึงสงบมากขึ้น ไม่ใช่ การโต้ตอบ ธรรมชาติ แต่เป็นการเข้าถึงธรรมชาติแม้ผลงานของอาจารย์สมวงศ์ จะดูเป็นรูปแบบเก่าแต่ก็มีความ มั่นคง ในแนวทางนี้ แม้จะมีอิทธิพลของศิลปะร่วมสมัยเข้ามา แต่อาจารย์สมวงศ์ยังเน้นการถ่ายทอดมุมมอง อารมณ์ ความรู้ สึกด้วยเทคนิค สีทับซ้อนแบบบางเบาเพื่อจุดมุ่งหมายสู่ความสงบสุขไม่ยึดติดรูปทรงสีเป็นมุมมองจาก ของจริงไม่ใช่อิมเพรสชั่นพลังสีที่บางเบา ให้ความรู้สึกสงบแต่ให้ความรู้สึกที่งดงาม กาลเวลาที่เห็นได้ชัดตาม ปรากฏการณ์ของธรรมชาติซึ่งอาจเป็น ช่วงเวลาในแต่ละวันหรือฤดูกาลต่างๆทั้งสรรพสิ่งในธรรมชาติและเวลา ที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงมิรู้จักจบสิ้นอันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่คง ที่ไม่ยั่งยืน กลายเป็นอัตลักษณ์ เฉพาะของอาจารย์
งานของอาจารย์สมวงศ์จะเน้นเรื่องราวของธรรมชาตินอกจากจะนำเอาความสดชื่นมาให้แล้ว ยังช่วยโน้มน้าวจิตใจ ให้สงบ และพอใจต่อความเรียบง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาระของรูปทรงต่างๆในธรรมชาติที่เบียดเสียดหรือแทรกตัว อยู่ในพื้นที่ว่างทั่วไปการปรากฏของสีสันและบรรยากาศที่แสดงช่วงเวลาต่างๆซึ่งดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของ ธรรมชาติ นั้นเป็นความงามที่ช่วยขัดเกลาจิตใจให้ละเมียดละไมยิ่งขึ้น